แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 37 วรรคสอง กำหนดให้ คชก. ตำบลมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการบอกเลิกการเช่านาตามสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาที่ผู้ให้เช่าส่งมาด้วย โดยต้องพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้นแม้ผู้เช่าจะไม่คัดค้านหรือไม่มีคำร้องขอให้วินิจฉัย ก็ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่าสมควรให้การเช่านาสิ้นสุดลง หรืออยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขใดตามมาตรา 37(1) ถึง (4) หรือไม่ เมื่อ คชก. ตำบลวินิจฉัยแล้วผู้เช่านา ผู้เช่าช่วงนา หรือผู้ให้เช่านา หรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาอาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลต่อ คชก. จังหวัดได้ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง และถ้าไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีของโจทก์เมื่อ คชก. ตำบลยังมิได้พิจารณาวินิจฉัยหนังสือบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา 37 วรรคสอง โจทก์ยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์โดยเสนอคดีต่อศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า เดิมโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 443 ตำบลคูขวาง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีต่อมาโจทก์ที่ 1 ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2ถึงที่ 4 ระหว่างที่ที่ดินเป็นของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยเช่าทำนาเมื่อปี 2539 โจทก์ทั้งสี่ประสงค์จะนำที่ดินไปประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเองและไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าที่ดินอีกต่อไป จึงมีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยและแจ้งการบอกเลิกการเช่านั้นต่อกำนันตำบลคูขวางในฐานะประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลคูขวาง(คชก. ตำบลคูขวาง) จำเลยทราบการบอกเลิกการเช่าแล้วแต่เพิกเฉยและไม่ส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ทั้งสี่ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่พร้อมทั้งรื้อสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เดือนละ 12,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยมีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยและการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องมิได้ผ่านการพิจารณาวินิจฉัยของ คชก. ตำบลคูขวาง โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 443 ตำบลคูขวาง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ต่อมาโจทก์ที่ 1ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อปี 2534ตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ระหว่างที่ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาททำนาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2527 ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.6 จนกระทั่งวันที่ 27 มีนาคม 2538 โจทก์ทั้งสี่บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทต่อจำเลยตามหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่านาเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 พร้อมกับส่งสำเนาหนังสือบอกกล่าวนั้นต่อนายประเกียรติ ปิยะดำรงค์กำนันตำบลคูขวาง ประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคูขวาง หรือ คชก. ตำบลคูขวาง จำเลยไม่คัดค้านการบอกกล่าวเลิกการเช่าต่อ คชก. ตำบลคูขวาง และคชก. ตำบลคูขวาง มิได้พิจารณาวินิจฉัยหนังสือบอกเลิกการเช่าของโจทก์ทั้งสี่ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า คชก. ตำบลคูขวางมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 คือ พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่าการชำระค่าเช่า ระยะเวลาของการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ดังนั้น แม้มาตรา 37 วรรคสอง จะบัญญัติให้ คชก. ตำบลวินิจฉัยการบอกเลิกการเช่า แต่ก็ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 13(2)ดังกล่าวข้างต้น คือ ต้องมีคำร้องขอของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่า เมื่อจำเลยไม่คัดค้านการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ทั้งสี่ คชก. ตำบลคูขวางจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลและ คชก. จังหวัด หมายถึงกรณีมีผู้คัดค้านหรือร้องขอเท่านั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 13 บัญญัติให้ คชก. ตำบล มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงของแต่ละท้องที่ในเขตตำบลตามการจำแนกคุณภาพของที่ดินและน้ำ
(2) พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่าการชำระค่าเช่า ระยะเวลาของการเช่า ตลอดจนข้อพิพาทอื่นหรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าและมีคำสั่งใด ๆ ให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย
(3) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ คชก. จังหวัด มอบหมาย
…ฯลฯ…
ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของ คชก. ตำบลหาได้มีแต่เพียงที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาไม่ หากแต่ยังมีอำนาจหน้าที่อื่นตามมาตรา 13(3) คืออำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้เช่น มาตรา 37 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ คชก. ตำบลพิจารณาวินิจฉัยการบอกเลิกการเช่านาตามสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาที่ผู้ให้เช่าส่งมา อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายข้อนี้บังคับให้ คชก. ตำบลต้องพิจารณาวินิจฉัยหนังสือบอกเลิกการเช่านาของผู้ให้เช่านาทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ผู้เช่าจะไม่คัดค้านการบอกเลิกการเช่านาหรือไม่มีคำร้องขอให้วินิจฉัยก็ตาม คชก. ตำบลจำต้องพิจารณาและวินิจฉัยหนังสือบอกเลิกการเช่านานั้น ๆ ว่าสมควรให้การเช่านาสิ้นสุดลงหรือไม่ หรืออยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขใดภายใต้กรอบอำนาจที่กำหนดไว้ในตามมาตรา 37(1) ถึง (4) หรือไม่ ซึ่งเมื่อ คชก. ตำบลคูขวางวินิจฉัยแล้ว ผู้เช่านา ผู้เช่าช่วงนา หรือผู้ให้เช่านาที่เป็นคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาอาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลคูขวางต่อ คชก. จังหวัดได้ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง และคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีของโจทก์ทั้งสี่เมื่อ คชก. ตำบลคูขวางยังมิได้พิจารณาวินิจฉัยหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่านาตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 37 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ โจทก์ทั้งสี่ยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์โดยเสนอคดีต่อศาลได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน