แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่จำเลยกระทำผิดประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่85พ.ศ.2536เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1หรือประเภท2ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518ลงวันที่19มกราคม2536ได้กำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1หรือประเภท2โดยสำหรับเมทแอมเฟตามีนกำหนดว่าต้องไม่เกิน0.500กรัมแต่ไม่ได้กำหนดให้คำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์และตามพระราชบัญญัติที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518มาตรา59บัญญัติให้ถือว่าวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทนั้นด้วยและมาตรา4บัญญัติว่า”วัตถุตำรับหมายความว่าสิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วยฯลฯ”ดังนี้ปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์จึงต้องรวมถึงวัตถุตำรับที่ปรุงผสมอยู่ด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าวถือว่าของกลางเป็นวัตถุออกฤทธิ์ทั้งหมดเมื่อของกลางมีปริมาณเกิน0.500กรัมจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518มาตรา106ทวิซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่เมื่อต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีการัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่92(พ.ศ.2538)เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท1หรือประเภท2ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518ลงวันที่3เมษายน2538ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่85(พ.ศ.2536)ดังกล่าวและกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1หรือประเภท2โดยเมื่อคำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วสำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน0.500กรัมเมื่อเป็นดังนี้และปรากฏว่าของกลางตรวจพบเมทแอมเฟตามีนวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2อันถือเป็นสารบริสุทธิ์หนัก0.217กรัมซึ่งไม่เกินตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่92(พ.ศ.2538)ดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518มาตรา106ทวิคงมีความผิดตามมาตรา62วรรคหนึ่งและมาตรา106วรรคหนึ่งเท่านั้นซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้บังคับในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6 (7 ทวิ),59, 62, 106, 106 ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือนข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ จำเลยอายุ 19 ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76แล้ว จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจได้ไปตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่หอพักแจ็คแมนชั่น ยึดได้เมทแอมเฟตามีน(ยาม้า) จำนวน 28 เม็ด น้ำหนัก 2.078 กรัม จากห้องพักของจำเลยเป็นของกลาง ของกลางดังกล่าวตรวจพบปริมาณเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 น้ำหนัก 0.217 กรัม คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองมีจำนวนเกินปริมาณ 0.500 กรัม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ หรือไม่เห็นว่า มาตรา 106 ทวิ ดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 62 วรรคหนึ่ง เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 6 (7 ทวิ) ต้องระวางโทษ ฯลฯ”และในขณะที่จำเลยกระทำผิดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85พ.ศ. 2536 เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 19 มกราคม2536 ได้กำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 โดยสำหรับเมทแอมเฟตามีนกำหนดว่าต้องไม่เกิน 0.500 กรัม แต่ไม่ได้กำหนดให้คำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์ และตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 59 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทนั้นด้วย” และมาตรา 4 บัญญัติว่า “วัตถุตำรับ หมายความว่าสิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ฯลฯ”ดังนี้ ปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์จึงต้องรวมถึงวัตถุตำรับที่ปรุงผสมอยู่ด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว ถือว่าของกลางเป็นวัตถุออกฤทธิ์ทั้งหมด เมื่อของกลางมีปริมาณเกิน 0.500 กรัม จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แต่เมื่อต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538)เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 3 เมษายน2538 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536)ดังกล่าว และกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 โดยเมื่อคำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้ว สำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน 0.500 กรัมเมื่อเป็นดังนี้และปรากฏว่าของกลางตรวจพบเมทแอมเฟตามีนวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อันถือเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 0.217 กรัมซึ่งไม่เกินตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538)ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ คงมีความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และมาตรา 106 วรรคหนึ่ง เท่านั้นซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้บังคับในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น