คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสภาพการจ้างของโจทก์ โดยมาพบและสอบปากคำ อ. ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโจทก์และพนักงานอื่น ๆ ของโจทก์ก่อนมีคำสั่ง อันเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 27 และ 29 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้โจทก์มีโอกาสทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานในส่วนของโจทก์ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แต่กรณีนี้เป็นเรื่องให้โจทก์ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นเรื่องความสงบในทางอุตสาหกรรม หากปล่อยเนิ่นช้าโดยให้โอกาสโจทก์ตามที่โจทก์อ้าง ย่อมเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ลูกจ้างและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) คำสั่งดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ตรวจสภาพการจ้างและการทำงาน ณ สถานประกอบการของโจทก์ โดยสอบถามข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้องและไม่ตรงตามกำหนด และสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายเงินแก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 70, 9 และ 75 อาศัยอำนาจตามมาตรา 139 (3) สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ (1) ให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติให้ลูกจ้างที่สั่งพักงานและมิได้ทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ให้ถูกต้องครบถ้วนและตรงตามกำหนดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (2) ให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่สั่งพักงานและทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน โดยให้ปฏิบัติตาม (1) และ (2) ภายใน 7 วัน นับแต่รับคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวโจทก์ผู้รับคำสั่งย่อมทราบว่าจำเลยที่ 1 สั่งให้ปฏิบัติอย่างไร คำสั่งจึงมีความหมายชัดเจนตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 34 แล้ว แม้เหตุผลของคำสั่งจะมิได้มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) แต่การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้าง จึงถือเป็นการเร่งด่วนที่ไม่นำมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ ดังที่บัญญัติไว้ในวรรคสามของมาตรานี้
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 กำหนดเงื่อนไขการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานไว้เป็นการเด็ดขาด เมื่อการพิจารณาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโดยการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่ง มิได้สั่งภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกนางสาวรสกรณ์ว่าจำเลยที่ 1 และให้เรียกนางจำลองว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 128/2543 ที่ 114/2544 และที่ 158/2544 และจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 218/2544 โดยคำสั่งทั้งสี่ฉบับบังคับให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินกรณีต้องหยุดกิจการแก่ลูกจ้างของโจทก์ คำสั่งทั้งสี่ฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งทั้งสี่ฉบับดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า คำสั่งที่ 128/2543 ที่ 114/2544 ที่ 158/2544 และที่ 218/2544 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง นางสาวอรุณีที่ 1 นางสาวบุปผาที่ 2 นายสุเทพที่ 3 นางสาวพิมลที่ 4 และนางไสวที่ 5 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์และมีสิทธิได้รับค่าจ้างและดอกเบี้ยตามคำสั่งที่ 114/2544 จึงขอเข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประกอบกิจการปั่นด้าย ทอผ้า มีลูกจ้างประมาณ 1,530 คน สืบเนื่องจากสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ให้ปรับค่าจ้างประจำปีและเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้าง โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องสวนทาง กรณีตกลงกันไม่ได้ สหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงยื่นหนังสือแจ้งนัดหยุดงานและโจทก์มีหนังสือแจ้งปิดงาน ต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งห้ามมิให้สมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงจำนวน 376 คน ชุมนุมปิดกั้นประตูโรงงาน โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงจำนวน 390 คน แต่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมีคำสั่งที่ 233/2543 ให้โจทก์รับลูกจ้างดังกล่าวกลับเข้าทำงาน ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างแสดงความจำนงขอกลับเข้าทำงาน โจทก์ปฏิเสธอ้างว่าลูกจ้างดังกล่าวไม่มีสถานะความเป็นลูกจ้าง หลังจากนั้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2543 เกิดเพลิงไหม้อาคารโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ทำให้เครื่องจักรเสียหายไม่สามารถใช้การได้ โจทก์มีคำสั่งพักงานเฉพาะลูกจ้างที่โจทก์รับกลับเข้าทำงานตามคำสั่งที่ 233/2543 จำนวน 532 คน โดยอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ส่วนลูกจ้างที่ไม่เกี่ยวกับคำสั่งที่ 233/2543 ยังคงปฏิบัติงานต่อไปตามปกติ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งให้โจทก์หยุดประกอบกิจการในส่วนของอาคารโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ทั้งหมด ในการออกคำสั่งที่ 128/2543 จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสภาพการจ้างที่สถานประกอบการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 โดยมาพบและสอบปากคำนายอาจินต์ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโจทก์ ในการออกคำสั่งที่ 114/2544 ลูกจ้างของโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ตามแบบ คร. 7 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544 โดยมิได้ขอขยายระยะเวลา อนึ่ง ศาลแรงงานกลางยังฟังอีกว่า การออกคำสั่งที่ 158/2544 เป็นการออกคำสั่งหลังพ้นเวลา 60 วันแล้ว และจำเลยที่ 1 มิได้ขอขยายระยะเวลาอีกเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกโดยโจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2 ว่า คำสั่งที่ 128/2543 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 30 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ให้โอกาสโจทก์ชี้แจง ไม่รับฟังพยานหลักฐานใด ๆ จากโจทก์ และออกคำสั่งดังกล่าวอย่างเร่งรีบ เห็นว่า มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น
(1) เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
(2) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป
(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง
(4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้
(5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง
(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ
ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ในการออกคำสั่งที่ 128/2543 จำเลยที่ 1 ได้มาตรวจสภาพการจ้างของโจทก์โดยมาพบและสอบปากคำนายอาจินต์ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโจทก์และพนักงานอื่น ๆ ของโจทก์ก่อนมีคำสั่งดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 27 และมาตรา 29 แล้ว อนึ่ง ถึงแม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้โจทก์มีโอกาสที่จะทราบข้อเท็จจริงรวมทั้งมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานในส่วนของโจทก์ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับกรณีที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 128/2543 นี้ เป็นเรื่องให้โจทก์ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นเรื่องความสงบในทางอุตสาหกรรม หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปโดยการให้โจทก์ในฐานะนายจ้างมีโอกาสตามที่โจทก์อ้าง ย่อมเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ลูกจ้าง อีกทั้งกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) คำสั่งที่ 128/2543 ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2 ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปในข้อ 3 และข้อ 4 ว่า คำสั่งที่ 128/2543 ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 34 และมาตรา 37 โดยข้อความของคำสั่งมีลักษณะคลุมเคลือและมิได้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดอย่างชัดแจ้งและมิได้ประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ เห็นว่า ตามคำสั่งที่ 128/2543 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ตรวจสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ณ สถานประกอบกิจการของโจทก์ โดยได้สอบถามข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างไม่ถูกต้องและตรงตามกำหนดและสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 70 มาตรา 9 และมาตรา 75 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 139 (3) สั่งให้โจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้ (1) ให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติให้ลูกจ้างที่สั่งพักงานและมิได้ทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ให้ถูกต้องครบถ้วนและตรงตามกำหนดพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (2) ให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่สั่งพักงานและทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ทั้งนี้ ให้โจทก์ปฏิบัติตาม (1) และ (2) ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง ข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้รับคำสั่งย่อมทราบว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติอะไรอย่างไร จึงมีความหมายชัดเจนตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 34 แล้ว อนึ่ง แม้เหตุผลของคำสั่งของจำเลยที่ 1 จะมิได้มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงและข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) แต่การออกคำสั่งที่ 128/2543 นี้ เป็นคำสั่งที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้าง จึงถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่บทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรา 37 ไม่ใช่บังคับดังที่บัญญัติไว้ในวรรคสามของมาตรานี้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 3 และข้อ 4 จึงฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปในข้อ 5 ว่า คำสั่งที่ 114/2544 และที่ 158/2544 ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งหลังครบกำหนดเวลา 60 วัน โดยมิได้มีการขอขยาย เห็นว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 บัญญัติในวรรคหนึ่งว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องตามมาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง และบัญญัติในวรรคสองอีกว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในเวลาตามวรรคหนึ่งได้ ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล และอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดตามวรรคหนึ่ง ตามบทบัญญัติของมาตรา 124 ทั้งสองวรรคดังกล่าวเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานไว้เป็นการเด็ดขาด เมื่อการพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นไปตามเงื่อนไข กล่าวคือ ในการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้มีคำสั่งภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำสั่งที่ 114/2544 และที่ 158/2544 จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 114/2544 และที่ 158/2544 ของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share