คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 180/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 รู้ดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์อยู่ก่อนและรับเงินค่าที่ดินบางส่วนจากโจทก์แล้ว ทั้งสัญญานั้นก็ยังผูกพันอยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินให้จำเลย ที่ 2 เสีย เช่นนี้ ถือว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรม ยกที่ดินให้กันระหว่างจำเลยเสียได้ตาม ป.พ.พ.ม. 237.

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์ โดยแบ่งแยกโฉนดเสียก่อน โจทก์ได้เสียเงินค่าทำรั้วถมดินและเสียค่ารังวัดที่ดินไปแล้ว และจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของ ด.ช. วิฑูร เป็นเงิน ๔๖,๐๐๐ บาท โจทก์มอบฉันทะให้นายทุ้ยไปทำสัญญาซื้อขายเพื่อรับโอนกรรมสิทธิในนาม ด.ช. วิฑูร แต่ทางการให้รอไว้ก่อนโดยเหตุที่บิดา ด.ช. วิฑูร เป็นคนต่างด้าว โจทก์ – รอมานานเกินสมควร โจทก์จึงให้บุตรสาวแจ้งแก่จำเลยที่ ๑ ให้จัดการโอนที่ดินแก่นายประวิทย์บุตรเชยโจทก์ตามสัญญา ข้อ ๗ กลับปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ เสียแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้โดยเสน่หาระหว่างจำเลยเสีย ให้โอนกรรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยที่ ๑ แล้วให้จำเลยที่ ๑ โอนให้แก่นายประวิทย์โดยให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ค้าง ๒,๐๐๐ บาท แก่จำเลยที่ ๑ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถโอนที่ดินได้ก็ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๑๖๕,๓๐๐ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดิน ระหว่างจำเลยไม่ได้นั้น ได้ความว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเด็กเล็กรับโอนโดยนายทิพย์บิดาซึ่งเป็นผู้แทนซึ่งทั้งนายพิพย์ และจำเลย ที่ ๑ ก็รู้ดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์อยู่ก่อนและสัญญานั้นก็ยังผูกพันธ์อยู่ มิได้เลิกกันแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมยกที่ดินให้จำเลยที่ ๒ จึงทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมยกที่ดินให้กันระหว่างจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗ ได้
พิพากษายืน

Share