คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า การปิดหมายเรียกไม่ชอบเพราะมิได้สอบถามคนที่อยู่ในบ้านก่อน แต่โจทก์มิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากร ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เจ้าพนักงานของจำเลยปิดหมายเรียก ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ตามที่จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์จึงเป็นการปิดหมายโดยชอบตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ย้ายที่ทำการไปแล้วเป็นเพียงข้อที่โจทก์อาจยกขึ้นอ้างว่าไม่จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกได้เท่านั้น แต่ปรากฏว่านอกจากเจ้าพนักงานของจำเลยจะปิดหมายเรียกดังกล่าวแล้วยังส่งสำเนาหมายเรียกให้แก่ ส. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โดย ย. รับไว้แทน เมื่อโจทก์ ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหนังสือเตือนให้ ปฏิบัติตามหมายเรียกซึ่งได้ส่งสำเนาหนังสือเตือนให้ ส. ด้วย โดย บ. รับไว้แทน เมื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์ทราบข้อความตามหมายเรียก จึงถือว่าโจทก์ทราบเช่นกัน เมื่อโจทก์ ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จึงเป็นการจงใจขัดขืนหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมิน ย่อมมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินจึงต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าตามมาตรา 21,88 ประกอบมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับระหว่างปี 2530 ถึง 2532 แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับพิจารณาอุทธรณ์ให้ก็เป็นการไม่ชอบมีผลเท่ากับไม่มีการ พิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
สำหรับภาษีการค้า แม้เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับภาษีการค้าศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในส่วนเกี่ยวกับภาษีการค้าได้
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินมิได้เรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับ คงเรียกให้ชำระเฉพาะเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดอัตราไว้แน่นอนแล้ว ศาลไม่อาจงดหรือลดเงินเพิ่มได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ จำเลยเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลกรตามประมวลรัษฎากร โจทก์ดำเนินกิจการบ้านจัดสรรชื่อหมู่บ้านรัตนโกสมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอาินทร์ 200 โดยแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลง ๆปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตามแบบแปลนประมาณ 2,000 หลัง ขายให้แก่ประชาชน การตกแต่งรายละเอียดภายนอกและภายในบางส่วน ผู้ซื้อว่าจ้างบริษัทวอเตอร์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าตลอดจนภาษีอื่น ๆ อย่างถูกต้อง ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า จากการตรวจสอบบัญชีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2530 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์ไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มรวม 22,039,271 บาท และได้รับหนังสือแจ้งภาษีการค้าแจ้งการประเมินภาษีการค้าและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเติมรวม2,276,537 บาท รวมเป็นเงินภาษีที่จำเลยประเมินให้โจทก์ชำระจำนวน34,315,808 บาท โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ไม่เคยได้รับหมายเรียก ในขณะนั้นโจทก์ย้ายสำนักงานแต่มิได้แจ้งการย้ายแก่กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานโจทก์ตามที่จดทะเบียนไว้ได้ขายให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วในขณะที่จำเลยส่งหมายเรียกให้โจทก์โจทก์ไม่มีเจตนาไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกส่วนกรณีที่จำเลยประเมินภาษีการค้าของโจทก์เพิ่มโดยใช้ราคาบ้านพร้อมที่ดินบวกราคาตามสัญญารับจ้างต่อเติมของบริษัทวอเตอร์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นเกณฑ์คำนวณภาษีนั้น การคำนวณรายรับเกินความเป็นจริง โจทก์กับบริษัทวอเตอร์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นคนละนิติบุคคลกัน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2530 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 เนื่องจากมีเหตุควรเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์เชิดผู้อื่นเป็นผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์ โดยส่งหมายเรียกให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานของโจทก์ตามที่จดทะเบียนไว้ นอกจากนี้ได้ส่งสำเนาหมายเรียกให้แก่นายสมเกียรติ ปึงประพันธ์พงศ์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ในวันเดียวกัน ณ สำนักงานขายหมู่บ้านรังสิตการ์เด้นวิลล์ของบริษัทเค.เอส.ซี.ไดเมนชั่น จำกัด ซึ่งนายสมเกียรติเป็นกรรมการผู้จัดการเช่นเดียวกัน แต่โจทก์มิได้มาพบตามหมายเรียก เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าโจทก์มีรายได้จากการขายที่ดินและบ้านทั้ง 2 โครงการ อันเป็นพฤติการณ์เชิดผู้อื่นค้าอสังหาริมทรัพย์แทน เจ้าพนักงานจึงประเมินรายได้โครงการบ้านสวนฉัตรเป็นรายได้ของโจทก์ตามราคาที่โจทก์โฆษณาขายในหนังสือพิมพ์จากราคาที่ผู้ซื้อให้การไว้และตามหลักฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง สัญญาว่าจ้างต่อเติม โครงการหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200โจทก์ขายที่ดินพร้อมบ้านในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2530ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2531 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ซื้อให้ถ้อยคำว่าโจทก์ทำสัญญา 2 ฉบับ แยกเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ทำกับโจทก์ 1 ฉบับ และสัญญารับจ้างต่อเติมกับบริษัทวอเตอร์คอนสตรัคชั่นจำกัด อีก 1 ฉบับ ซึ่งผู้ซื้อไม่ได้ว่าจ้างให้ต่อเติมแต่อย่างใด เจ้าพนักงานจึงคำนวณรายได้จากการขายใหม่ การประกอบกิจการของโจทก์มิใช่การประกอบกิจการขายสินค้าที่สามารถหาหลักฐานนำมาใช้คำนวณกำไรสุทธิได้โดยง่าย เจ้าพนักงานจึงใช้แนวทางตามข้อ (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.5/2527 เรื่องการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5ของยอดรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ โดยถือเอารายได้ตามผลการตรวจสอบซึ่งสูงกว่ารายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ที่ยื่นไว้ โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเงินเพิ่มรวม 22,039,271 บาท เกี่ยวกับภาษีการค้าเจ้าพนักงานได้ตรวจสอบรายรับจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยใช้เกณฑ์เดียวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์จึงยื่นรายรับภาษีการค้าขาดไป และต้องรับผิดชำระภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่าและเงินเพิ่มรวม 12,276,537 บาท การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสมเกียรติ ปึงประพันธ์พงศ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์ดำเนินกิจการบ้านจัดสรรชื่อหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ตั้งอยู่ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และหมู่บ้านสวนฉัตร ตั้งอยู่แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเห็นว่า โจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องจึงหมายเรียกไต่สวนการเสียภาษีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2530 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 และตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 ให้โจทก์นำบัญชีเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องไปส่งมอบแก่เจ้าพนักงานประเมินโดยปิดหมายเรียกที่บ้านเลขที่ 512 หมู่ที่ 2 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และส่งสำเนาให้นายสมเกียรติที่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยนางสาวยุพิน ปัญญาสวัสดิ์ รับไว้แทน โจทก์มิได้ปฏิบัติตามหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามหมายเรียกพร้อมส่งสำเนาให้นายสมเกียรติ ณ บ้านเลขที่ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง นางสาวบุบผาคงศิริ รับสำเนาหนังสือเตือนไว้แทนนายสมเกียรติ โจทก์ยังคงเพิกเฉย ขณะเจ้าพนักงานไปส่งหมายเรียกและหนังสือเตือนให้โจทก์นั้น บ้านเลขที่ 512เป็นที่ทำการของบริษัทคราฟท์อาท จำกัด โดยโจทก์ขายบ้านเลขที่ดังกล่าวไปก่อนนี้แล้ว โจทก์เคยแจ้งให้เจ้าพนักงานของจำเลยทราบว่าติดต่อบริษัทในเครือบริษัทเค.เอส.ซี. ไดเมนชั่น จำกัด ได้ที่เลขที่ 1540 ชั้นที่ 5 อาคารนิปปอนแมนชั่น ถนนสุทธิสาร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มรวม 22,039,271 บาท และให้ชำระภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 12,276,537 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 34,315,808 บาทโจทก์อุทธรณ์การประเมินดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ให้เหตุผลว่าเจ้าพนักงานประเมินส่งหมายเรียกให้โจทก์โดยชอบ โจทก์ไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินไม่ส่งมอบบัญชีเอกสารประกอบการลงบัญชี การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร และการประเมินภาษีการค้าโดยใช้ราคาขายบ้านพร้อมที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายบวกราคาตามสัญญาจ้างต่อเติมชอบแล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นการชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่า การส่งหมายเรียกให้โจทก์ไม่ชอบ เพราะโจทก์ย้ายที่ทำการไปแล้วและเจ้าพนักงานปิดหมายเรียกโดยมิได้สอบถามคนที่อยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าวก่อน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบ เห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การปิดหมายเรียกไม่ชอบเพราะมิได้สอบถามคนที่อยู่ในบ้านก่อนนั้น โจทก์มิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ย้ายที่ทำการไปแล้วนั้น เห็นว่าเจ้าพนักงานของจำเลยปิดหมายเรียก ณ บ้านเลขที่ 512 หมู่ที่ 2 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ตามที่จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นการปิดหมายโดยชอบตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว การที่โจทก์ย้ายที่ทำการไปแล้วเป็นเพียงข้อที่โจทก์อาจยกขึ้นอ้างว่าไม่จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกได้เท่านั้น แต่ปรากฏว่านอกจากเจ้าพนักงานของจำเลยจะปิดหมายเรียกดังกล่าวแล้วยังส่งสำเนาหมายเรียกให้แก่นายสมเกียรติกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ที่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 4 ตำบลบึงยี่โถอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยนางสาวยุพิน ปัญญาสวัสดิ์ รับไว้แทนเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหนังสือเตือนให้ปฏิบัติตามหมายเรียกซึ่งได้ส่งสำเนาหนังสือเตือนให้นายสมเกียรติ ณบ้านเลขที่ดังกล่าวด้วยโดยนางสาวบุปผา คงศิริ รับไว้แทน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวมิใช่สำนักงานของบริษัทเค.เอส.ซี ไดเมนชั่น จำกัดนั้น นายสมเกียรติพยานโจทก์เองเบิกความรับว่า นางสาวยุพินกับนางสาวบุปผาทำงานที่บริษัทเค.เอส.ซี. ไดเมนชั่น จำกัด การที่บุคคลทั้งสองอยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าวจึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานของบริษัทเค.เอส.ซี.ไดเมนชั่น จำกัด ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลย โดยนางสาวรุ่งทิพย์ธัญวงษ์ พยานจำเลยเบิกความว่า บ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานขายของบริษัทเค.เอส.ซี. ไดเมนชั่น จำกัด ซึ่งมีนายสมเกียรติเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานขายของบริษัทเค.เอส.ซี.ไดเมนชั่น จำกัด นางสาวยุพินและนางสาวบุปผาย่อมทราบดีว่าข้อความตามหมายเรียกและหนังสือเตือนดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเสียภาษี เชื่อว่าต้องนำไปมอบให้แก่นายสมเกียรติ เมื่อนายสมเกียรติซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทราบข้อความตามหมายเรียกจึงถือว่าโจทก์ทราบเช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จึงเป็นการจงใจขัดขืนหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรื่องการประเมินภาษีการค้าเพิ่มเติมหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 21,88 ประกอบมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับระหว่างปี 2530ถึง 2532 แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับพิจารณาอุทธรณ์ให้ก็เป็นการไม่ชอบมีผลเท่ากับไม่มีการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนั้น เห็นว่าสำหรับภาษีการค้าแม้เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม แต่เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับภาษีการค้า ศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในส่วนเกี่ยวกับภาษีการค้าได้ ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินมิได้เรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับคงเรียกให้ชำระเฉพาะเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดอัตราไว้แน่นอนแล้วศาลไม่อาจงดหรือลดเงินเพิ่มได้”

พิพากษายืน

Share