แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านให้จำเลยเพื่อที่จำเลยจะนำไปขายเป็นกรณีที่โจทก์รับจ้างทำของให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ แต่การที่โจทก์ก่อสร้างให้แก่จำเลยนั้น จำเลยกระทำเพื่อนำไปจำหน่ายในโครงการจัดสรรที่ดินตามวัตถุประสงค์ของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ปลูกสร้างบ้านในหมู่บ้านโครงการบ้านเมืองหลวง โจทก์ได้ก่อสร้างบ้านให้จำเลยหลายหลังจำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระ 1,112,724 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 166,908.60 บาท รวมเป็นเงิน 1,279,632.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,112,724 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านเป็นการจ้างทำของมีอายุความเพียง 2 ปี นับแต่กันยายน 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์โดยจำเลยจัดสรรที่ดินและปลูกสร้างบ้านขายใช้ชื่อโครงการว่า บ้านเมืองหลวง เมื่อกุมภาพันธ์ 2539 จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ในโครงการดังกล่าว 10 หลัง 3 แบบ แบบราชวงค์ ราคาหลังละ 983,000 บาท แบบเพลินจิต ราคาหลังละ 80,000 บาท ตกลงแบ่งชำระตามงวดงานที่ทำสัญญากันไว้ หากโจทก์ทำงานครบงวดงาน โจทก์จะส่งใบแจ้งหนี้เพื่อให้จำเลยส่งเจ้าหน้าที่ตรวจงวดเสร็จแล้วจะส่งเรื่องให้จำเลยเพื่อชำระเงินตามงวดงานซึ่งปกติจะชำระภายใน 15 วัน ตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.7 หลังจากทำการก่อสร้างตามสัญญาจ้างแล้ว จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างต่อโดยไม่ได้ทำสัญญาจ้างกันไว้คงให้ถือสัญญาเดิมโจทก์ได้ก่อสร้างบ้านให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยไม่ชำระค่าจ้าง
มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านให้จำเลยเพื่อที่จำเลยจะนำไปขายเป็นกรณีที่โจทก์รับจ้างทำของให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ แต่การที่โจทก์ก่อสร้างให้แก่จำเลยนั้น จำเลยกระทำเพื่อนำไปจำหน่ายในโครงการจัดสรรที่ดินตามวัตถุประสงค์ของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) ดังนั้น เมื่อนับจากกุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่ถึงกำหนด 5 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟ้องขึ้น มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยค้าชำระค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่เนื่องจากศาลชั้นต้นได้พิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างชำระค่าจ้าง 1,112,724 บาท จำเลยมิได้ให้การโต้แย้งจำนวนเงินดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามจำนวนดังกล่าว แต่ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาโดยใช้วัสดุที่ด้อยคุณภาพและไม่ถูกต้องตามสัญญาจำเลยจึงมีภาระในการพิสูจน์ตามที่กล่าวอ้าง กลับปรากฏจากคำเบิกความของนายชูศักดิ์ พยานจำเลยว่า นายชูศักดิ์เป็นกรรมการของจำเลยมีหน้าที่ตรวจรับงานก่อสร้าง เมื่อมีการก่อสร้างเสร็จตามงวดสัญญาจะมีหัวหน้าคนงานตรวจสอบตามงวดแล้วเสนอมายังนายชูศักดิ์ นายชูศักดิ์จะตรวจสอบการก่อสร้างว่าตรงตามสัญญากำหนดไว้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบถูกต้องตรงกันและก็จะอนุมัติเพื่อนำเสนอกรรมการของจำเลยเพื่อจ่ายเงินหรือตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนายชูศักดิ์ได้เบิกความด้วยว่า ก่อนที่จะมีการฟ้องคดีนี้ไม่มีปัญหาทางด้านการเงินระหว่างกัน เนื่องจากหากมีการสั่งให้แก้ไขทางฝ่ายโจทก์ก็จะแก้ไขให้ถูกต้องและมีการชำระเงินกันไป จากคำเบิกความของนายชูศักดิ์ดังกล่าวจึงเจือสมกับพยานโจทก์ปากนายอำนาจ พยานโจทก์ที่เคยทำงานเป็นหัวหน้าคุมงานของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ตรวจงานก่อสร้างของจำเลยที่โจทก์ดำเนินการให้โดยนายอำนาจเบิกความว่า ได้ตรวจงานโจทก์และได้ลงลายมือชื่อรับมอบงานไว้แล้ว นอกจากนี้นายธีรพันธ์ ไม่ปรากฏนามสกุล ก็ลงลายมือชื่อรับมอบงานโจทก์แล้วเช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างให้แก่จำเลยถูกต้องตามสัญญาทุกประการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,112,724 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543) ต้องไม่เกิน 166,908.60 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท