คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6987/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปทำการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละส่วนเท่าๆกันจำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เมื่อราคาที่ดินทั้งหมดซึ่งเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง คำพิพากษาตามยอมในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดที่พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินแก่จำเลยร่วมไม่ใช่คำพิพากษาที่ได้แสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ของที่ดินอันจะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกคดีจึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคหนึ่งไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีโจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยแบ่งแยกและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อลงในทะเบียนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามได้กรณีมิใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของจำเลยและจำเลยร่วม กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1375ไม่ใช่เรื่องอายุความแต่เป็นกำหนดเวลาสำหรับฟ้องคดีหากโจทก์ทั้งสามถูกแย่งการครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ย่อมเสียสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินทันทีซึ่งเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยและจำเลยร่วมจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยและจำเลยร่วมก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคสองการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยเห็นว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และนางสาวบุญหวงหรือหวงชูสวัสดิ์ เป็นบุตรของนายกลึง ชูสวัสดิ์ และโจทก์ที่ 3จำเลยเป็นบุตรของนายแนบ หนูแก้ว บิดาเลี้ยงของโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 และนางสาวบุญหวงหรือหวง โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2และนางสาวบุญหวงหรือหวง เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 127/55 เนื้อที่22 ไร่ 1 งาน และ 88 ตารางวา โดยมีส่วนเท่า ๆ กันคนละ 1 ส่วนเป็นเนื้อที่คนละ 7 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา ซึ่งได้มาเมื่อวันที่5 พฤศจิกายน 2513 โดยจำเลยเป็นผู้รับให้ที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ที่ 3 ไว้แทน หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และนางสาวบุญหวงหรือหวงได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกันกับโจทก์ที่ 3 และบิดาเลี้ยงตลอดมา ส่วนจำเลยไม่เคยเกี่ยวข้อง ทั้งนี้โดยจำเลยได้สัญญาว่า ตามที่จำเลยได้รับยกให้จากโจทก์ที่ 3 นั้น จำเลยจะยึดถือไว้เพื่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2และนางสาวบุญหวงหรือหวงไม่ยึดถือไว้เพื่อตนเอง และหากนายแนบและโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตายเมื่อใด จำเลยจะเป็นผู้ดำเนินการแบ่งและโอนเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และนางสาวบุญหวงหรือหวงคนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยจำเลยจะไม่โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้อื่น ต่อมานายแนบถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2519 แต่จำเลยก็ยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกและเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว นางสาวบุญหวงหรือหวงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2522 บิดาของนางสาวบุญหวงหรือหวงได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวบุญหวงหรือหวงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาและเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียว ต่อมาประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2533 โจทก์ทั้งสามแจ้งให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วนเท่ากัน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทำการแบ่งแยกและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 127/55 หมู่ที่ 3ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 22 ไร่1 งาน 88 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 7 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวาหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่127/55 ฉบับผู้ถือซึ่งจำเลยยึดถือไว้ให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ส่งมอบหรือส่งมอบไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอท่าฉางออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับผู้ถือเดิมทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลยแต่โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของจำเลยได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของตนเอง จำเลยและญาติของจำเลยไม่ยินยอม บิดาของจำเลยจึงตกลงให้โอนที่ดินคืนให้แก่จำเลยจำเลยไม่ได้รับโอนหรือถือการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามและไม่เคยทำสัญญาตกลงว่าจะครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามรวมทั้งไม่เคยตกลงว่าหากบิดาหรือมารดาเลี้ยงของจำเลยถึงแก่ความตายแล้วจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม บันทึกถ้อยคำเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยได้ครอบครองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพื่อตนเองตลอด จำเลยเคยนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ทั้งสามไม่เคยคัดค้านโจทก์ทั้งสามทราบดีก่อนฟ้องว่า จำเลยได้โอนขายที่ดินพิพาทให้นางยุพา ตรีรัตน์ โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะไม่อยู่ในสภาพที่จะบังคับตามฟ้องได้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางยุพา ตรีรัตน์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 127/55 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 7 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ที่จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์เกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องว่า ในปี 2519 และปี 2522ฝ่ายโจทก์ได้พูดให้จำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์แต่จำเลยไม่ยอมหากโจทก์ทั้งสามเห็นว่าถูกโต้แย้งสิทธิจะต้องนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แต่โจทก์ทั้งสามเพิ่งนำคดีมาฟ้อง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การและศาลชั้นต้นก็ไม่ได้วินิจฉัยถึง กรณีจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่เป็นสาระคดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้และพิพากษายืน
จำเลย และ จำเลยร่วม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อโจทก์ทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยไปทำการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ คดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาททั้งหมดมีราคา 112,350 บาทจำเลยฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทไว้เพื่อตนเองไม่ได้ยึดถือแทนโจทก์ทั้งสาม ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ทั้งสาม ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 46/2533 ซึ่งถึงที่สุดแล้วให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม การที่โจทก์ทั้งสามนำคดีนี้มาฟ้องเท่ากับเป็นการฟ้องทำลายคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ เห็นว่าคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาที่ได้แสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ของที่ดินพิพาทอันจะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกคดี คำพิพากษาตามยอมนั้นมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งเท่านั้น ไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสามมิใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของจำเลยและจำเลยร่วมแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายในทำนองว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมที่อุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสามหมดสิทธิที่จะฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แล้ว เพราะจำเลยได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสามเกิน 1 ปี โดยอ้างว่าจำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นประเด็นในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ชอบ นั้น ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่ากำหนดเวลาในฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้นไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่เป็นกำหนดเวลาสำหรับฟ้องคดี หากโจทก์ทั้งสามถูกแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ย่อมเสียสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาททันที ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยและจำเลยร่วมจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเป็นประเด็นโดยตรง จำเลยและจำเลยร่วมก็มีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่รับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามโดยที่คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ทั้งสามจึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้ถูกจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท ไม่มีกำหนดเวลาที่โจทก์ทั้งสามจะต้องฟ้องคดีนี้เอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษายืน

Share