คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและปกครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น ขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้จะฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองก็จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754มาใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ที่ 2 เคยฟ้องขอแบ่งส่วนทำบุญทำทานตามที่เจ้ามรดกสั่งไว้ในพินัยกรรม โจทก์ที่ 3 เคยฟ้องขอแบ่งมรดก โจทก์ที่ 4เคยร้องต่อ ศาลขอให้เพิกถอนจำเลยทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดกโจทก์ที่ 5 ก็เคยฟ้องจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกเคยฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 5 ออกจากที่ดินกองมรดก แต่ไม่ปรากฏว่าได้พิพาทกันในประเด็นว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นโมฆะหรือไม่ดังนั้น ที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ พินัยกรรมที่กำหนดยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้มีชื่อถือหุ้นในบริษัทโดยให้แต่ละคนมีส่วนเฉลี่ยตามจำนวนหุ้น ซึ่งเจ้ามรดกก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวด้วยนั้น เป็นพินัยกรรมที่กำหนดตัวผู้รับพินัยกรรมโดยทราบตัวได้แน่นอนแล้วตามรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีอยู่ในขณะผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย พินัยกรรมส่วนนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 มีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ส่วนที่ปรากฏว่าเจ้ามรดกก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทด้วย จึงเท่ากับเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ตนเองนั้น ย่อมเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1646 ไม่มีผลบังคับทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับยอมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม พินัยกรรมซึ่งมีข้อความให้ผู้จัดการมรดกและผู้ถือหุ้นซึ่งได้รับทรัพย์มรดกมาตามพินัยกรรมโอนทรัพย์มรดกให้เป็นการเพิ่มทุนของบริษัทตามอัตราส่วนของหุ้นที่แต่ละคนมีอยู่นั้น เป็นเงื่อนไขที่ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707จึงไม่มีผล ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย ผู้รับพินัยกรรมไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น พินัยกรรมที่กำหนดให้โอนหุ้นในส่วนของเจ้ามรดกใส่ชื่อผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อรับเงินปันผลจากบริษัท เพื่อทำบุญทำทานและเกื้อกูลบุตรหลานที่ไม่มีชื่อถือหุ้นในบริษัทนั้น ไม่ใช่เรื่องตั้งผู้ปกครองทรัพย์และไม่ใช่เรื่องก่อตั้งทรัสต์ เพราะผู้รับพินัยกรรมไม่ใช่ผู้เยาว์หรือบุคคลไร้ความสามารถ และไม่มีการยกทรัพย์ให้แก่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดแต่เป็นข้อกำหนดที่ทรัพย์สินซึ่งยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจจะทราบแน่นอนได้และเป็นการให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกให้แก่ผู้รับพินัยกรมมากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของผู้จัดการมรดกข้อกำหนดนี้จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นทายาทโดยธรรมของหลวงโทณะ วณิกพันธ์ ในจำนวนทายาทโดยธรรม รวม 11 คน เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้โดยข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกคนละหกล้านบาทเศษ และจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกและให้เพิกถอนจำเลยทั้งสองออกจากผู้จัดการมรดก จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ที่ 1 ถูกตัดจากกองมรดกโดยพินัยกรรมไปแล้ว โจทก์ที่ 3ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีก่อน และคดีขาดอายุความมรดกแล้วทั้งจำเลยทั้งสองได้แบ่งมรดกให้ทายาทเสร็จสิ้นแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชำระเงิน12,328,012.50 บาท แก่โจทก์ทั้งห้า หากไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 2180 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระแทน โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุตรของหลวงโทณะวณิกพันธ์เจ้ามรดกซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2507เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2507 ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.8 และทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมีอยู่ในขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องจำนวน 67,807,920 บาทมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และฎีกาของโจทก์ทั้งห้า ดังต่อไปนี้
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า คดีโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางเกียว โทณะวณิก เป็นผู้จัดการมรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์เจ้ามรดก ตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 4567/2507 คดีหมายเลขแดงที่ 4259/2516มรดกรายนี้อยู่ในระหว่างจัดการแบ่งให้แก่ทายาท จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกและปกครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2524 แม้จะเกิน 1 ปี นับแต่วันหลวงโทณะวณิกพันธ์เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองก็จะยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754มาใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยทั้งสองได้ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3254/2528 คดีระหว่างนางเคน เทียมราช โจทก์ นางผันไชยราช จำเลยฎีกา จำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ฟ้องซ้ำและไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปรากฏว่าโจทก์ทั้ง 2 เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกขอแบ่งส่วนทำบุญทำทานตามที่เจ้ามรดกสั่งไว้ในพินัยกรรม และโจทก์ที่ 3 เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกขอแบ่งมรดก แต่ศาลพิพากษายกฟ้องอ้างว่าโจทก์ที่ 3 มิได้เป็นผู้มีชื่อถือหุ้นในบริษัทสากล จำกัด จึงไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรม สำหรับโจทก์ที่ 4 นั้น เคยยื่นคำร้องต่อศาลในคดีตั้งผู้จัดการมรดก หาว่าจำเลยทั้งสองและนางเกียวผู้จัดการมรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ประพฤติผิดหน้าที่ขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 4ไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสากล จำกัด ถือว่าถูกตัดมิให้รับมรดก ไม่มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดกได้ ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 4 ส่วนโจทก์ที่ 5 นั้น ได้เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกมาแล้ว และจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกได้ฟ้องโจทก์ที่ 5 ขอให้ขับไล่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินกองมรดก จำเลยทั้งสองกับโจทก์ที่ 5 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ศาลฎีกาได้ตรวจพิจารณาคดีต่าง ๆ ที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 พิพาทกับจำเลยทั้งสองโดยตลอดแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้พิพาทกันในประเด็นที่ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นโมฆะหรือไม่ ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมนั้น จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ศาลได้เคยวินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้อีก ฎีกาจำเลยที่ 1ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.8นั้น เป็นโมฆะทั้งฉบับหรือไม่เพียงใด และฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ว่าโจทก์ทั้งห้าถูกตัดมิให้รับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกโดยพินัยกรรมแล้วหรือไม่นั้น ปรากฏว่าพินัยกรรมของหลวงโทณะวณิกพันธ์เจ้ามรดกมีข้อความดังต่อไปนี้ “ข้อ 1. เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมลง บรรดาอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ เงินสดและทรัพย์สินอื่น ๆรวมทั้งสิทธิทั้งหลายที่มีอยู่ขณะนี้ หรือจะมีขึ้นในภายหน้าข้าพเจ้าปลงใจยกให้แก่ผู้มีชื่อถือหุ้นในบริษัทสากล จำกัดในขณะข้าพเจ้าถึงแก่กรรมลง รวมทั้งในชื่อของข้าพเจ้าด้วย โดยให้แต่ละคนรวมทั้งในชื่อของข้าพเจ้ามีส่วนเฉลี่ยตามจำนวนหุ้นคือให้คิดตามจำนวนหุ้นทั้งหมดรวมทั้งในชื่อของข้าพเจ้าแบ่งไปตามส่วน” เช่นนี้ เห็นว่าเจ้ามรดกได้แสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง และพินัยกรรมนี้ได้กำหนดตัวผู้รับพินัยกรรมโดยทราบตัวได้แน่นอนแล้วตามรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทสากล จำกัด ที่มีอยู่ในขณะผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายดังนั้นจึงถือได้ว่าพินัยกรรมในส่วนนี้ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 แล้วมีผลใช้บังคับได้พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.8ย่อมไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับดังที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาแต่อย่างใดส่วนข้อกำหนดข้ออื่นในพินัยกรรมฉบับนี้จะตกเป็นโมฆะหรือไม่มีผลใช้บังคับหรือไม่เป็นข้อที่จะได้วินิจฉัยในลำดับต่อไป เมื่อปรากฏว่าขณะที่หลวงโทณะวณิกพันธ์ถึงแก่ความตายนั้น หลวงโทณะวณิกพันธ์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทสากล จำกัด ด้วยจึงเท่ากับหลวงโทณะวณิกพันธ์ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ตนเองด้วยเป็นจำนวนเท่ากับอัตราส่วนของหุ้นที่หลวงโทณะวณิกพันธ์ถือหุ้นอยู่ เช่นนี้ เห็นว่าการที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ตนเองย่อมเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 และมาตรา 1646 จึงไม่มีผลบังคับ ฉะนั้นทรัพย์มรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์เฉพาะส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับย่อมตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม สำหรับพินัยกรรมในข้อ 2ซึ่งมีข้อความว่า ให้ผู้จัดการมรดกและผู้ถือหุ้นจัดการโอนทรัพย์มรดกให้เป็นการเพิ่มทุนบริษัทสากล จำกัด ตามอัตราส่วนของหุ้นที่แต่ละคนมีอยู่นั้นเห็นว่า ข้อกำหนดเช่นนี้เป็นเงื่อนไขที่ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมข้อ 1นั้นแก่บุคคลอื่นคือบริษัทสากล จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 ดังนั้น การที่ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 2มีเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมโอนทรัพย์ที่ตนได้รับตามพินัยกรรมให้เป็นการเพิ่มทุนบริษัทสากล จำกัด จึงไม่มีผล โดยให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย ผู้รับพินัยกรรมไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้จัดการมรดกและผู้รับพินัยกรรมมิได้นำมรดกไปเฉลี่ยเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทสากลจำกัด จึงยังถือไม่ได้ว่า ผู้จัดการมรดกและผู้รับพินัยกรรมถูกตัดสิทธิมิให้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ข้อ 3. ซึ่งมีข้อความว่าถ้าผู้ใดซึ่งข้าพเจ้าปลงใจให้ดังกล่าวข้างต้นละเลยหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ข้าพเจ้ากำหนดไว้ข้างต้น ข้าพเจ้าขอตัดสิทธิมิให้รับมรดก และให้เอาส่วนนั้นไปเฉลี่ยให้แก่บุคคลอื่นที่ปฏิบัติตามคำสั่งและในนามผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้า แต่ประการใดฎีกาของโจทก์ทั้งห้าที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกตัดสิทธิมิให้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมข้อ 3. จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนพินัยกรรมข้อ4. ที่มีข้อความว่าหุ้นของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะผู้ตายถึงแก่ความตายก็ดีหุ้นในส่วนของผู้ตายก็ดีให้โอนใส่ชื่อผู้จัดการมรดกร่วมกันเพื่อรับเงินปันผลจากบริษัทสากล จำกัด เพื่อทำบุญทำทาน และเกื้อกูลบุตรหลาน ซึ่งไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสากล จำกัดนั้น เห็นว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อนี้ไม่ใช่เรื่องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ และไม่ใช่เรื่องก่อตั้งทรัสต์เพราะผู้รับพินัยกรรมไม่ใช่ผู้เยาว์หรือบุคคลผู้ไร้ความสามารถ และไม่มีการยกทรัพย์ให้แก่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดหน้าที่ให้ผู้จัดการมรดกรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกไว้แทนผู้ตาย และจัดการทำบุญทำทานและเกื้อกูลบุตรหลานที่ไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสากลจำกัด ดังนั้น ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้และเป็นการให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้กำหนดให้แก่บุตรหลานของเจ้ามรดกซึ่งไม่ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไว้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของผู้จัดการมรดกเช่นนี้ ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(3) เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าหลวงโทณะวณิกพันธ์ได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.8ไว้ แต่พินัยกรรมดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 วรรคสอง บัญญัติให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายและตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.8 ก็มิได้มีข้อความระบุให้ตัดโจทก์ทั้งห้ามิให้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมแต่ประการใด โจทก์ทั้งห้าจึงไม่ได้ถูกตัดไม่ให้รับทรัพย์มรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ในฐานะทายาทโดยธรรมโดยพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.8 ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับทรัพย์มรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ เฉพาะส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับและเป็นโมฆะที่จะนำมาแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 มีจำนวนเท่าใดนั้นปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทสากล จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 อัตราส่วนหุ้นของหลวงโทณะวณิกพันธ์มีจำนวน 40 ใน 100 ของหุ้นทั้งหมด ขณะหลวงโทณะวณิกพันธ์ถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกอยู่จำนวน 67,807,920 บาท ส่วนของผู้ตายที่จะได้รับตามอัตราส่วนหุ้นที่ผู้ตายมีอยู่ 40 ส่วน ใน 100ส่วน จึงมีจำนวนเท่ากับ 27,123,168 บาท สำหรับจำนวนทายาทโดยธรรมของหลวงโทณะวณิกพันธ์เจ้ามรดกที่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจำนวนนี้ฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันว่ามีโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และบุตรอื่นของหลวงโทณะวณิกพันธ์ อีก 2 คน คงมีปัญหาเฉพาะโจทก์ที่ 3เพียงผู้เดียวที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 โต้แย้งว่าโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรของหลวงโทณะวณิกพันธ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรอันเป็นทายาทโดยธรรมของหลวงโทณะวณิกพันธ์หรือไม่ ข้อนี้โจทก์ที่ 3 นำสืบว่า โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรหลวงโทณะวณิกพันธ์ ซึ่งเกิดกับนางเชื้อมารดา มีหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.11 ระบุว่านายศิริ โทณวนิก (โจทก์ที่ 3)เกิดเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นบุตรของนายวิสิฐ (ชื่อเดิมของหลวงโทณะวณิกพันธ์) กับนางเชื้อ และได้ความจากคำเบิกความของนางเต็มดวง โทณะวณิก โจทก์ที่ 5 ยืนยันว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเป็นบุตรของหลวงโทณะวณิกพันธ์ หลวงโทณะวณิกพันธ์มีบุตรรวม11 คน เป็นบุตรหลายมารดา และบุตรหลวงโทณะวณิกพันธ์มีอีก 6 คนคือ นางละออศรี นางอ่อนศรี นายวันชัย นางวันเดช นางวันเลิศและนายบุญเติม ได้ความจากนายจินดา ชัยรัตน์ พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อโจทก์ที่ 3 ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากหลวงโทณะวณิกพันธ์และจากมารดาเขานั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของหลวงโทณะวณิกพันธ์จริง แต่ไม่จำต้องวินิจฉัยในเรื่องแบ่งทรัพย์มรดกเพราะไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทสากล จำกัด พยานจำเลยที่นำสืบว่า โจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรของหลวงโทณะวณิกพันธ์ล้วนแต่เบิกความว่าได้รับคำบอกเล่ามาจากบุคคลอื่นว่าโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรของหลวงโทณะวณิกพันธ์แต่เป็นบุตรของนายแขกที่ติดท้องนางเชื้อมาแต่จำเลยก็ไม่มีพยานสนับสนุนให้มีน้ำหนักรับฟังได้แต่ประการใด เห็นว่าโจทก์ที่ 3 มีทั้งพยานเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านและพยานบุคคลประกอบกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและนายจินดา ชัยรัตน์ พยานจำเลยก็เบิกความเจือสมโจทก์ที่ 3พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ที่ 3 ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรอันเป็นทายาทโดยธรรมของหลวงโทณะวณิกพันธ์ฉะนั้นทายาทโดยธรรมของหลวงโทณะวณิกพันธ์จึงมีรวมทั้งสิ้น 11 คนทรัพย์มรดกส่วนที่ตกได้แก่ทายาทโดยธรรมดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วมีจำนวน 27,123,168 บาท ดังนั้นทายาทโดยธรรมแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 2,465,742.54 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งห้าก็ได้รับส่วนแบ่งจำนวนนี้ด้วยคนละ 2,465,742.54 บาท รวมกันแล้วโจทก์ทั้งห้าได้รับส่วนแบ่งจำนวน 12,328,712.70 บาท โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ได้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์มรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ยังคงมีที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 2180 แขวงมหานาคเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ที่จะแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องได้ ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งห้าขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้นั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเอกสารหมายจ.8 ข้อ 5 และศาลก็ได้มีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองและนางเกียวโทณะวณิก เป็นผู้จัดการมรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ ตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมที่สั่งเสียไว้ในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.8ข้อ 5. ในระหว่างที่จำเลยทั้งสองและนางเกียวเป็นผู้จัดการมรดกอยู่นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าได้ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่แต่อย่างไรและไม่ปรากฏว่าได้จัดการทรัพย์มรดกรายนี้ให้เป็นที่เสียหายแต่ประการใด อีกทั้งไม่มีเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่จะต้องเพิกถอนการเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยทั้งสองตามคำสั่งศาลแต่อย่างใดฉะนั้น คำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนจำเลยทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้จึงฟังไม่ขึ้น ไม่อาจบังคับให้ได้ตามขอดังที่โจทก์ทั้งห้าฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ ชำระเงินจำนวน 12,328,712.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์ทั้งห้า…

Share