คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8223/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ประกันนำที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาเป็นหลักประกันในการประกันตัวจำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบ เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ชำระค่าปรับ พนักงานอัยการนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไม่ได้ ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้เพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และ 296 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
การขายทอดตลาดที่เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมายทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330ทั้งผู้ประกันก็มิใช่ผู้ซื้อทรัพย์ จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติดังกล่าวมาคุ้มครองผู้ประกันได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ผู้ประกันได้ร่วมกับนายสัง ขอมีกลาง ประกันตัวจำเลยไปในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โดยผู้ประกันใช้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 677 ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นหลักประกัน แล้วผู้ประกันและนายสังผิดสัญญาประกันและไม่ชำระค่าปรับ พนักงานอัยการจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด จนกระทั่งได้มีการขายทอดตลาดและศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งมาว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ดังกล่าวมีชื่อนายพรม ขวัญหมั่น เป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง ไม่ใช่ผู้ประกัน และได้เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 21209 ตำบลดงใหญ่ (ท่าหลวง) อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ตามมาตรา 58 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2532 ทั้งนายพรมได้ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและผู้ร้องได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกเป็นของผู้ร้องในฐานะทายาทไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งนัดพร้อมโดยออกหมายเรียกผู้ประกันและผู้ร้องมาสอบถาม ถึงวันนัดผู้ร้องมาศาลแถลงตามหนังสือแจ้งของเจ้าพนักงานที่ดิน และว่าผู้ร้องไม่ทราบว่าผู้ประกันนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 677 มาประกันตัวจำเลยได้อย่างไร ส่วนผู้ประกันไม่มา ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบถามผู้ประกันใหม่ โดยให้ออกหมายจับผู้ประกัน แต่ก็ยังไม่ได้ตัวผู้ประกันมาสอบถามศาลชั้นต้นจึงให้ทำการไต่สวนโดยออกหมายเรียกเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานที่ดินมาเป็นพยาน

วันนัดไต่สวนผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายพรมบิดาผู้ร้องหลังจากนายพรมถึงแก่กรรมทายาทได้ตกลงแบ่งปันมรดกกันโดยให้ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้จดทะเบียนโอนมาเป็นของผู้ร้อง ผู้ประกันไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมิได้เป็นเจ้าของไม่อาจนำไปใช้เป็นหลักประกันตัวจำเลยโดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอมได้ และผู้ร้องไม่ทราบเรื่องการยึดและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจึงไม่ได้ดำเนินการโต้แย้งคัดค้านใด ๆ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดและปล่อยที่ดินพิพาทคืนให้แก่ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนราคาค่าที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อ และให้พนักงานอัยการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของผู้ประกันต่อไป

ผู้ประกันอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้ประกันฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้ประกันนำสืบรับกันฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายพรม ขวัญหมั่น บิดาของผู้ร้องและผู้ประกันโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งถ่ายจากฉบับเจ้าพนักงานเอกสารหมาย ร.1 ต่อมาผู้ประกันได้นำใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ตามเอกสารหมาย ร.7 มาเป็นหลักประกันร่วมกับนายสัง ขอมีกลาง ในการประกันตัวจำเลย แล้วผู้ประกันและนายสังผิดสัญญาประกันและไม่ชำระค่าปรับ พนักงานอัยการจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ซึ่งมีผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวมีชื่อนายพรม เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และได้เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 21209 ตำบลดงใหญ่ (ท่าหลวง) อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้จดทะเบียนโอนเป็นของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายพรมตามคำสั่งศาลในฐานะทายาทไปแล้วปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันมีว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนั้นชอบหรือไม่ ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องเป็นพยานเบิกความว่านายพรมถึงแก่กรรมเมื่อปี 2522 ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวและยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มาตลอด ผู้ประกันเคยไปยื่นคำขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) อ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทสูญหายไป ตามเอกสารหมาย ร.5 ผู้ร้องทราบจึงไปยื่นคำคัดค้าน ตามเอกสารหมาย ร.5 ผู้ประกันได้ยื่นคำขอยกเลิกออกใบแทนดังกล่าว ตามเอกสารหมาย ร.6 ต่อมาทางราชการเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เป็นโฉนดที่ดิน ตามเอกสารหมาย ร.2 และผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ประกันทราบและไม่มีผู้ใดคัดค้าน ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ตามสารบัญจดทะเบียนท้ายเอกสารหมาย ร.2 ผู้ร้องเพิ่งทราบว่าผู้ประกันขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตามเอกสารหมาย ร.7 เมื่อได้รับหมายเรียกให้มาศาลในคดีนี้ และผู้ร้องมีนายพงษ์ศักดิ์ อุดมพงษ์เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาพิมาย เป็นพยานเบิกความสนับสนุนโดยรับรองความถูกต้องแท้จริงของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และโฉนดที่ดิน ตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 เห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องสอดคล้องต้องกันและสมเหตุผลทั้งพยานบุคคลและเอกสาร จึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ส่วนผู้ประกันคงมีตัวผู้ประกันเป็นพยานปากเดียวเบิกความว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ประกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายพรมแล้วผู้ประกันได้นำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของผู้ประกัน ผู้ประกันนำที่ดินพิพาทไปประกันตัวจำเลยโดยสุจริต เห็นว่า ผู้ประกันเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนันสนุน ทั้งผู้ประกันมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงที่ผู้ประกันเคยไปขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และขอยกเลิกไปตามเอกสารหมาย ร.4ถึง ร.6 และมิได้นำสืบถึงที่มาของใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย ร.7 ซึ่งเป็นพิรุธ ดังนั้นพยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานผู้ประกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง และการที่ผู้ประกันไปยื่นคำขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และขอยกเลิกตามเอกสารหมาย ร.4 ถึง ร.6 แล้ว จากนั้นกลับมีใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เอกสารหมาย ร.7 โดยนายพงษ์ศักดิ์พยานผู้ร้องเบิกความว่า รายการจดทะเบียนโอนมรดกจากนายพรมมาให้ผู้ประกันตามใบแทนดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อเจ้าพนักงานที่ดินกำกับและประทับตราประจำตำแหน่งไว้ ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้ ทั้งหากมีการออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทางสำนักงานที่ดินจะต้องทำหมายเหตุไว้ในสารบัญจดทะเบียนของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเจ้าพนักงาน แต่ตามเอกสารหมาย ร.1 ซึ่งเป็นสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาทฉบับเจ้าพนักงานไม่มีหมายเหตุบันทึกดังกล่าวอยู่จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบแทนดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.7 และฟังไม่ได้ว่าได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทไปเป็นของผู้ประกันแล้ว ผู้ประกันจึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันในการทำสัญญาประกันตัวจำเลยได้ การที่ผู้ประกันนำทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาเป็นหลักประกันในการประกันตัวจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ การบังคับคดีรายนี้จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้เพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 และ 296 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ส่วนที่ผู้ประกันฎีกาว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยสุจริต สิทธิของผู้ซื้อไม่เสียไปแม้จะพิสูจน์ได้ภายหลังว่าทรัพย์พิพาทไม่ใช่ทรัพย์ของผู้ประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ศาลจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้นั้น เห็นว่า การขายทอดตลาดรายนี้เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ทั้งผู้ประกันก็มิใช่ผู้ซื้อทรัพย์จึงมิอาจกล่าวอ้างบทบัญญัติดังกล่าวมาคุ้มครองผู้ประกันได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ประกันฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share