คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดเป็นสองตอนคือ การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับสัญชาติของ จำเลยในการยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ตอนหนึ่ง และการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในเอกสารราชการตามแบบบ.ป.1 ตามมาตรา 267 อีกตอนหนึ่ง ข้อหาความผิดทั้งสองตอนตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันและอาจเกิดขึ้นในคราวเดียวกันได้ หาเป็นการขัดแย้งกันไม่ และข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็เป็นไปโดยแจ้งชัดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดย โจทก์ไม่จำต้องสืบพยานประกอบ
ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม2519 โจทก์ นำตัวจำเลยมายื่นฟ้องต่อศาลในวันที่18 พฤษภาคม 2526 เกินกำหนดห้าปีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งไม่มีสัญชาติไทยบังอาจยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานผู้รับคำขอออกบัตร และให้เจ้าพนักงานดังกล่าวจดข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบ บ.ป.๑ อันเป็นเอกสารราชการวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕มาตรา ๑๗ จำเลยกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๗ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์บรรยายถึงการที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จเป็นการยืนยันการกระทำของจำเลยตรงข้ามกัน เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดเป็นสองตอนคือ การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต้องเจ้าพนักงานเกี่ยวกับสัญชาติของจำเลยในการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ตอนหนึ่ง และการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในเอกสารราชการตามแบบ บ.ป.๑ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ อีกตอนหนึ่ง ข้อความผิดทั้งสองตอนตามที่โจทก์กล่าวบรรยายมาในฟ้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันและอาจเกิดขึ้นในคราวเดียวกันได้ หาเป็นการขัดแย้งกันแต่อย่างใดไม่ และข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็เป็นไปโดยชัดแจ้งพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์ จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘(๕) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานประกอบ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๔(๔) บัญญัติว่า ในคดีอาญาก็มิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดห้าปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความปรากฏว่าความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำและปรับ และความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕มาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จำเลยกระทำผิดคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๙และโจทก์นำตัวจำเลยมายื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖เกินกำหนดห้าปี ข้อหาความผิดดังกล่าวข้างต้นจึงขาดอายุความ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดเช่นว่านั้นหาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗ และความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗ โดยจำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๗ สถานเดียว

Share