คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมแก้ไขสัญชาติของโจทก์ทั้งสองในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ทั้งสองจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติญวนและนายทะเบียนท้องถิ่นได้ปฏิบัติตามคำสั่งแล้วแม้การออกคำสั่งนั้นจะเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่และระเบียบแบบแผนของทางราชการก็ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง บิดามารดาของโจทก์ทั้งสองเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน2483แต่มิได้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน30วันตามความในมาตรา5แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าวพุทธศักราช2479จนกระทั่งวันที่22สิงหาคม2488จึงได้ขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเช่นนี้ในระหว่างที่ยังไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้นพ.ร.บ.คนเข้าเมืองพุทธศักราช2480มาตรา29ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบิดามารดาของโจทก์ทั้งสองเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าบิดามารดาของโจทก์ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองจึงต้องถือว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นบิดามารดาของโจทก์เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่337ข้อ1(3) โจทก์ที่1เกิดในประเทศไทยในระหว่างที่บิดามารดายังมิได้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่บิดามารดาของโจทก์เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโจทก์ที่1จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่337ส่วนโจทก์ที่2เกิดหลังจากที่บิดามารดาได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วกรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่2จะถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่337.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายกุยดิ้น หวู่ หรือวู่และนางถี่ยิดคนต่างด้าวเชื้อชาติญวน สัญชาติญวน มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งนายทะเบียนคนต่างด้าวอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ออกให้ โจทก์ทั้งสองเกิดที่บ้านเลขที่ 1087 ตำบลในเมืองอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนและขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินโดยชอบด้วยกฎหมายต่อมาโจทก์ที่ 1 ถูกปลัดอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เรียกคืนใบแทนบัตรประจำตัวประชาชน และโจทก์ที่ 2 ถูกนายอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนมเรียกคืนบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยได้มีคำสั่งที่ นพ. 19(2)/556 ลงวันที่ 8พฤศจิกายน 2522 ให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนม ถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสองให้เป็นสัญชาติญวนโดยไม่ทราบเหตุผล เมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 ก็ได้รับแจ้งให้ไปดำเนินการทางศาล การที่จำเลยมีคำสั่งให้ถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิการได้สัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสองโดยการเกิดในราชอาณาจักร โจทก์ทั้งสองย่อมสูญเสียสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ในฐานะบุคคลผู้มีสัญชาติไทย เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ให้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ นพ.19(2)/556 ลงวันที่ 8พฤศจิกายน 2522 และคำสั่งใด ๆ ของจำเลยที่สั่งถอนสัญชาติของโจทก์ทั้งสองจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติญวนนั้นเสีย ให้จำเลยมีคำสั่งถึงนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมแก้ไขต้นฉบับและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ทั้งสองให้เป็นสัญชาติไทยตามเดิมหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของนายกุยดิ้น หวู่ หรือวู่ กับนางถี่ยิดคนต่างด้าวซึ่งมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและเกิดที่จังหวัดนครพนม สูติบัตรของโจทก์ทั้งสองเป็นเอกสารปลอม โจทก์ทั้งสองได้บัตรประจำตัวประชาชนและขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินโดยทุจริต เพราะโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติญวน ตามทะเบียนบ้านเลขที่ 1056/1 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แล้วย้ายไปอยู่บ้านเลขที่ 279 ถนนบูรพาตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ โจทก์ทั้งสองสมคบกับนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองชัยภูมิโดยทุจริตแก้สัญชาติของโจทก์ที่ 2 เป็นสัญชาติไทย ลงในทะเบียนบ้าน โจทก์ที่ 2 อาศัยหลักฐานดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองชัยภูมิ ต่อมาโจทก์ทั้งสองขอย้ายภูมิลำเนากลับไปอยู่บ้านเลขที่ 997ตำบลในเมือง จังหวัดนครพนม นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองชัยภูมิได้ออกหนังสือใบแจ้งการย้ายออก (ทร.17) ที่ 6/2512 ลงวันที่ 3มกราคม 2512 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งไม่ตรงกับสัญชาติที่แท้จริง โจทก์ทั้งสองนำใบแจ้งการย้ายออกไปแสดงจนเป็นเหตุให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมหลงเชื่อได้จดแจ้งลงในทะเบียนบ้านเลขที่ 997 ดังกล่าวว่า โจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทยและเจ้าหน้าที่ได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้โจทก์ทั้งสองโดยหลงผิดต่อมาทางราชการตรวจพบหลักฐานว่า โจทก์ทั้งสองมีสัญชาติญวนจึงได้เรียกใบแทนบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่ 1 และบัตรประจำตัวของโจทก์ที่ 2 คืน หนังสือที่ นพ. 19(2)/556 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน2522 ไม่ใช่หนังสือถอนสัญชาติของโจทก์ทั้งสอง แต่เป็นเพียงหนังสือสั่งการของจำเลยให้นายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขเอกสารทะเบียนบ้านและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสัญชาติของโจทก์ทั้งสองจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติญวนตามเดิมให้ถูกต้องตรงกับความจริงจำเลยสั่งการไปโดยสุจริตตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ แม้จะฟังว่าโจทก์ทั้งสองเกิดในประเทศไทย แต่โจทก์ทั้งสองแสดงตัวว่าเป็นคนสัญชาติญวนตามทะเบียนบ้านเลขที่ 1056/1ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองสละสัญชาติไทยแล้วย่อมเสียสัญชาติไทยตามกฎหมาย นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจได้สัญชาติไทยไม่ว่ากรณีใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทยส่วนคำขออื่น ๆ ของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 2 มีสัญชาติไทยให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และจำเลยฎีกา
โจทก์ที่ 1 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยเพียงแต่สั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขเอกสารหลักฐานสัญชาติของโจทก์ที่ผิดพลาด เป็นการแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตรงกับข้อความที่มีมาแต่เดิมจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทย และได้รับบัตรประจำตัวประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสองให้เป็นสัญชาติญวนโดยไม่ทราบเหตุผล เป็นการละเมิดสิทธิการได้สัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสองเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมแก้ไขสัญชาติของโจทก์ทั้งสองในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ทั้งสองจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติญวนตามเอกสารหมาย ล.8 และนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมได้ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 และจ.16 แม้การออกคำสั่งของจำเลยดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และระเบียบแบบแผนของทางราชการจะไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่ผลของการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานอำเภอเมืองนครพนมเรียกบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ทั้งสองคืนไปและเป็นการโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสัญชาติไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่านางถี่ยิดมารดาของโจทก์ทั้งสองเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวนที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีนายกู่ หวู่ โจทก์ที่ 2 และนายกุยดิ้น หวู่ หรือ วู่ เบิกความยืนยันว่า นางถี่ยิคเคยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจริง แต่โจทก์ไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดมาแสดงต่อศาลก็เพราะว่า นางถี่ยิดถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2521 นายทะเบียนคนต่างด้าว สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครพนม ได้ยึดใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดไว้ โจทก์จึงขอให้ศาลหมายเรียกมาจากนายทะเบียนคนต่างด้าวดังกล่าว พันตำรวจตรีสุขุม เทียมกลิ่น สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมได้มีหนังสือมายังศาลจังหวัดนครพนมตามเอกสารหมาย จ.3 แจ้งว่าใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดได้ส่งไปทำลายตามระเบียบแล้วไม่อาจจัดส่งต่อศาลได้ เมื่อประกอบกับเอกสารหมาย จ.18 ซึ่งพนันตำรวจโทเถลิงศักดิ์ สุคนมาลย์ เบิกความรับรองว่าเป็นสำเนาเอกสารที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมสำเนาจริงและมีข้อความระบุว่านางถี่ยิดมีใบสำคัญประจำตัวเลขที่ 76/2488 ลงวันที่22 สิงหาคม 2488 ตรงกับเลขที่ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดในเอกสารหมาย จ.3 ฉะนั้น แม้โจทก์ไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดมาแสดงต่อศาลก็ตาม ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่านางถี่ยิดมารดาโจทก์ทั้งสองมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจริง ที่จำเลยอ้างว่าเอกสารหมาย จ.3 โจทก์กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยโจทก์ไม่มีพยานบุคคลซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับรองสำเนาเอกสารหรืออารักขาควบคุมเอกสารหมาย จ.3 ได้มีอยู่จริงหรือสูญหายหรือถูกทำลายไปจริง เอกสารหมาย จ.3 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารหมาย จ.3 หาใช่สำเนาเอกสารไม่ หากแต่เป็นตันฉบับหนังสือที่สารวุตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมในฐานะนายทะเบียนคนต่างด้าวได้ทำขึ้นเพื่อแจ้งต่อศาลจังหวัดนครพนมว่าไม่สามารถจัดส่งใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดต่อศาลตามหมายเรียกได้ เพราะได้ส่งไปทำลายตามระเบียบเสียแล้วเอกสารดังกล่าวโจทก์ระบุอ้างเป็นพยาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงต้นเหตุที่ไม่สามารถส่งใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางถี่ยิดต่อศาลได้และเป็นต้นฉบับเอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นส่งต่อศาลโดยตรง จึงไม่ต้องมีพยานบุคคลเข้าเบิกความรับรอง ศาลก็รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยก็ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า นางกู่ หวู่ โจทก์ที่ 2 ได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม2515 เพราะโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่านางถี่ยิดมารดาของโจทก์ที่ 2เป็นผู้มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เพราะเออสารหมาย จ.3 ที่โจทก์อ้างอิงเป็นสำเนาเอกสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารหมาย จ.3 เป็นต้นฉบับเอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นส่งต่อศาลและรับฟังได้ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น หาใช่สำเนาเอกสารดังจำเลยฎีกาไม่ และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่านางถี่ยิดมารดาโจทก์ที่ 2 มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในขณะที่โจทก์ที่ 2เกิดจริง กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 2 จะถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ดังกล่าว ฎีกาจำเลยข้อนี้ตกไป
ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ต่อไป โดยโจทก์ที่ 1ฎีกาว่าบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าวผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่บุคคลที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1(3)ศาลฎีกาเห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 1 บัญญัติว่า”ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(1)…………
(2)……….
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้ายคนเข้าเมือง”
จึงมีปัญหาว่า ขณะที่โจทก์ที่ 1 เกิดในประเทศไทยนั้นบิดามารดาของโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเจ้าเมืองแล้วหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพุทธศักราช 2480 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 29 ว่า “คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรสยามโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติสี้” และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พุทธศักราช 2479 ที่าีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ก็บัญญัติในมาตรา 5 ว่า “คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยามภายหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวตามความในมาตราก่อนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองได้…” ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าบิดามารดาโจทก์ที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน2483 แต่มิได้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน 30 วันตามบทบัญญัติดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2488 จึงได้ขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ดังนั้น ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน2483 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2488 แสดงว่าบิดามารดาของโจทก์ที่ 1ไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพุทธศักราช 2480 มาตรา 29 จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บิดามารดาของโจทก์ที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแต่ประการใดจึงต้องถือว่าขณะที่โจทก์ที่ 1 เกิด บิดามารดาของโจทก์ที่ 1 เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) โจทก์ที่ 1จึงถูกถอนสัญชาติไทย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ที่ 1ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share