แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่เดิมและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามสัญญาขึ้นใหม่ ข้อความในหนังสือสัญญาผ่อนชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองที่มีใจความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชำระเงินค่าผิดสัญญาลาศึกษาของจำเลยที่ 1 โดยขอผ่อนชำระเป็นรายเดือนอัตราเดือนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นการยอมรับผิดใช้ทุนการศึกษาซึ่งเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันไว้เดิม โดยใช้วิธีชำระครั้งแรกครึ่งหนึ่งและขอผ่อนชำระอีกครึ่งหนึ่ง ไม่มีข้อความระงับข้อพิพาทที่มีอยู่เดิมเพื่อก่อให้ได้สิทธิขึ้นใหม่ จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน50,968.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน37,076.03 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญาลาศึกษาต่อมาฟ้องอีก เนื่องจากโจทก์ได้แจ้งยืนยันให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญาเป็นเงินจำนวน 120,325.80 บาท หลายครั้ง โจทก์ให้จำเลยที่ 2ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้โดยให้นำบุคคลมาทำสัญญาค้ำประกันสัญญาผ่อนชำระหนี้ด้วย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญากำหนดยอดหนี้จำนวนแน่นอน จำเลยที่ 2 ได้ผ่อนชำระเงินจำนวน 120,325.80 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้วการทำหนังสือรับสภาพหนี้ผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการประนีประนอมยอมความยุติข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,968.40 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 37,076.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า สัญญาผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขอรับทุนประเภท 2 และลาไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศมีข้อตกลงเมื่อเสร็จการศึกษาจำเลยที่ 1 จะรับราชการในสังกัดโจทก์ต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับเงินเดือน หากผิดสัญญาต้องชดใช้เงินเดือนและเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่า ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญามิได้รับราชการในสังกัดโจทก์และมีหนังสือขอให้โจทก์ติดต่อให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงิน โจทก์ได้นำเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ชดใช้หนี้บางส่วน แล้วมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ที่ยังค้างเป็นเงิน 120,325.80 บาทตามหนังสือเอกสารหมาย ล.5 จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินตามยอดจำนวนนี้ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ค้างอีกครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 60,162.90 บาทจำเลยที่ 2 ขอผ่อนชำระเป็นรายเดือนอัตราเดือนละ 5,000 บาทตามสัญญาผ่อนชำระหนี้เอกสารหมาย ล.6 ต่อมาได้ชำระจนครบตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.7 แต่ปรากฏว่ากรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงโจทก์ว่าต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดไม่รับราชการถึงวันนำเงินบำเหน็จไปหัก คือ นำเงินบำเหน็จไปหักเงินดอกเบี้ยระหว่างที่ผิดนัดก่อน เงินที่เหลือจึงนำไปหักจากต้นเงินที่ยังค้างชำระ ตามหนังสือกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.14โจทก์ได้คำนวณการชำระเงินทุนใหม่โดยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันได้รับเงินบำเหน็จนำเงินบำเหน็จและเงินที่จำเลยที่ 2ผ่อนชำระแล้วไปหักออก ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้โจทก์37,076.03 บาท ตามรายการคิดเงินทุนการศึกษาเอกสารหมาย จ.12ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัด จะให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไม่ได้อีกนั้น เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออันมีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่เดิมและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามสัญญาขึ้นใหม่ แต่ข้อความในสัญญาผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6 มีใจความว่า จำเลยที่ 2ยินยอมชำระเงินค่าผิดสัญญาลาศึกษาของจำเลยที่ 1 โดยขอผ่อนชำระเป็นเงินรายเดือน อัตราเดือนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หนังสือสัญญาฉบับนี้เป็นการยอมรับผิดใช้ทุนการศึกษาซึ่งเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันไว้เดิม โดยใช้วิธีชำระครั้งแรกครึ่งหนึ่งและขอผ่อนชำระอีกครึ่งหนึ่ง ไม่มีข้อความระงับข้อพิพาทที่มีอยู่เดิมเพื่อก่อให้ได้สิทธิขึ้นใหม่แต่อย่างใดนอกจากนี้ตามสัญญาฉบับนี้ข้อ 7 ยังตกลงไว้ว่า หากกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วไม่อนุมัติให้ถือเสมือนว่าไม่เคยทำสัญญาไว้ต่อกันซึ่งก็หมายถึงว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก แสดงว่าข้อตกลงต่าง ๆตามสัญญายังไม่ยุติ เพราะมีข้อแม้ต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลังหากไม่ได้รับอนุมัติอาจยกเลิกสัญญาฉบับนี้ได้ ฉะนั้นสัญญาผ่อนชำระตามเอกสารหมาย ล.6 จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน