คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 82-86/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหน้าที่ของคุรุสภาไม่ใช่ข้าราชการ แม้ยักยอกเงินในหน้าที่ก็ไม่ใช่กระทำผิดในฐานะเจ้าพนักงาน เงินของคุรุสภาไม่ใช่เงินงบประมาณของแผ่นดิน แม้จำเลยจะเป็นข้าราชการ แต่เมื่อเงินที่ยักยอกไม่ใช่เงินของราชการหรืออยู่ในความรักษาของราชการ จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,151 ไม่ได้ และแม้จำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ก็ยกขึ้นในชั้นฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 แต่ขอให้ลงโทษตามมาตรา 147,151 ศาลย่อมลงโทษตามมาตรา 352 ได้
ฟ้องบรรยายว่าผู้เสียหายร้องทุกข์แล้ว จำเลยยื่นคำให้การรับสารภาพพร้อมด้วยคำแถลงซึ่งระบุว่ารับสารภาพตามฟ้องทุกประการ แสดงว่ารับสารภาพตลอดถึงเรื่องร้องทุกข์ด้วย
คดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ แม้ผู้เสียหายจะพอใจตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์
จำเลยได้รับมอบหมายให้ไปรับเงินของคุรุสภาจากธนาคารออมสินเพื่อจ่ายให้แก่นางสำรวย จำเลยรับเงินแล้วยักยอกเสีย เงินก็ยังเป็นของคุรุสภาอยู่ นางสำรวยไม่ใช่ผู้เสียหายไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ให้คดีระงับไป
เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยความว่าเงินที่จำเลยยักยอกไปนั้นทางคุรุสภาประจำจังหวัดได้รับคืนจากจำเลยแล้ว ไม่ประสงค์จะให้จำเลยได้รับโทษทางอาญาต่อไป ดังนี้ ไม่ใช่การถอนคำร้องทุกข์หรือการยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางไกรสรจำเลยเป็นภริยานายอัมพรจำเลย นายอัมพรจำเลยรับราชการเป็นครูทำหน้าที่ช่วยงานในแผนกศึกษาฯ อุบลราชธานีและเป็นสมาชิกคุรุสภาได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่การเงินขององค์การช่วยเหลือเพื่อสมาชิกคุรุสภา สาขาจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของคุรุสภา ชื่อย่อว่า ช.พ.ค. มีหน้าที่รับ เก็บรักษาจ่ายเงินค่าจัดการศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิก ช.พ.ค.และมีหน้าที่ยืมเงิน ช.พ.ค.ของจังหวัดมาทดรองจ่ายเป็นค่าจัดการศพแล้วนำส่งใช้เมื่อ ช.พ.ค.โอนเงินมาให้ ในสำนวนแรกนายอัมพรจำเลยได้รับมอบให้ไปรับเงินค่าสงเคราะห์ครอบครัวเพื่อจ่ายให้นางสำรวย เมื่อจำเลยรับเงินมาแล้วไม่ฝากคลังและไม่จ่ายแก่นางสำรวยแล้วจำเลยทั้งสองสมคบกันให้นางไกรสรจำเลยเซ็นชื่อนางสำรวยในสมุดรับเงิน และจำเลยทั้งสองได้ยักยอกเอาเงินเสียขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 161, 265, 266 และที่แก้ไขคดีอีก 4 สำนวน นายอัมพรจำเลยกระทำผิดทำนองเดียวกันต่างกันต่างรายต่างวาระ คือ จำเลยได้ยืมเงิน ช.พ.ค.ของจังหวัดทดรองจ่ายเป็นค่าจัดการศพของบุคคลต่าง ๆ ครั้นเมื่อจำเลยได้รับมอบหมายให้ไปรับเงินจากธนาคารออมสินเพื่อส่งใช้เงินยืม จำเลยรับมาแล้วกลับยักยอกเอาเสียขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 และที่แก้ไขกับให้คืนเงินแก่คุรุสภาผู้เสียหาย

ชั้นแรก จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ต่อมากลับขอให้การใหม่ ยอมรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขจึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ผิดมาตรา 147 จำคุก 3 ปี และผิดมาตรา 265 จำคุก 1 ปี รวมเป็น 4 ปี จำเลยที่ 2 ผิดมาตรา 265 จำคุก1 ปี รับลดกึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 สองปี จำเลยที่ 2 หกเดือนให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้ 5 ปี จำเลยที่ 2 สองปี คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไปทีเดียว

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไปทีเดียว

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

1. พระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 มาตรา 4 บัญญัติให้มีคุรุสภาขึ้น และให้เป็นนิติบุคคล มาตรา 5 บัญญัติถึงรายได้ของคุรุสภา มาตรา 6บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของคุรุสภา มาตรา 7 บัญญัติให้มีคณะกรรมการอำนวยการของคุรุสภา มาตรา 8 ระบุให้คณะกรรมการอำนวยการแต่งตั้งเลขาธิการและเจ้าหน้าที่อื่นตามสมควร ตามมาตรา 5 การเงินของคุรุสภาไม่อยู่ในงบประมาณแผ่นดิน อำนาจแต่งตั้งตามมาตรา 8ก็ไม่มีบทบัญญัติระบุถึงผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ฉะนั้น จะแต่งตั้งบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการก็ได้ จึงเห็นว่าบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของคุรุสภาไม่ใช่ถูกแต่งตั้งอย่างข้าราชการและไม่มีคุณสมบัติของข้าราชการ เงินของคุรุสภาไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดินเจ้าหน้าที่ของคุรุสภาจึงไม่ใช่ข้าราชการ แม้จำเลยยักยอกเงินในหน้าที่ก็ไม่ใช่กระทำผิดในฐานะเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151 แม้จำเลยจะเป็นข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้ยักยอกเงินของราชการหรืออยู่ในความรักษาของราชการ จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 147, 151 ไม่ได้ แม้จำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ก็ยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยโจทก์ได้บรรยายฟ้อง มาเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่อ้างบทขอให้ลงโทษผิดไปศาลย่อมลงโทษตามมาตรา 352 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

2. โจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ฯ แล้วจำเลยยื่นคำให้การรับสารภาพพร้อมด้วยคำแถลงซึ่งระบุไว้ชัดว่ารับสารภาพตามฟ้องทุกประการ ไม่ขอต่อสู้คดีแต่อย่างใด แสดงว่ารับสารภาพตลอดถึงเรื่องผู้เสียหายร้องทุกข์ฯ ด้วย

3. คดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ แม้ผู้เสียหายจะพอใจตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (โดยแถลงว่าจำเลยนำเงินไปคืนให้แล้ว หากจำเลยรับสารภาพศาลจะลงโทษหนักเบาประการใดก็สุดแล้วแต่) โจทก์ก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ จะหมดสิทธิก็ต่อเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกัน

4. เงินที่จำเลยยักยอกไป (ตามสำนวนแรก) ยังเป็นของคุรุสภาอยู่ ยังไม่ได้จ่ายให้นางสำรวย นางสำรวยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ให้คดีระงับไป

5. เจ้าหน้าที่ของคุรุสภามีหนังสือถึงจำเลย ความว่า เงินที่ที่จำเลยยักยอกไปนั้นทางคุรุสภาประจำจังหวัดได้รับคืนจากจำเลยครบแล้ว ไม่ประสงค์จะให้จำเลยได้รับโทษทางอาญาต่อไป ดังนี้ไม่ใช่การถอนคำร้องทุกข์หรือการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

Share