แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 วรรคสาม บัญญัติว่า เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป หาได้บังคับว่าการกระทำกิจการแทนวัดจะต้องประทับตราสำคัญของวัดด้วยไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีตราสารจัดตั้งที่จำกัดอำนาจให้ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 แม้หนังสือมอบอำนาจที่ ส. มอบอำนาจให้ ป. มีอำนาจฟ้องคดีและทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 1 จะปรากฏว่า ส. เพียงแต่ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ไว้ด้วยก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก ป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ป. จึงไม่มีอำนาจทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 ได้เท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การถึงว่าขณะทำหนังสือสัญญาเช่าไม่มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ สัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249
หนังสือสัญญาเช่าที่ดินมีข้อสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี แล้ว โจทก์ที่ 1 ต้องต่อสัญญาเช่าออกไปอีกจนกว่าจะครบ 30 ปี แม้การทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินจะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีผลฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 จึงเป็นการเช่าที่ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตาม ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505
ย่อยาว
คดีสี่สำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2343/2544, 2344/2544, 2345/2544, 2348/2544, 2349/2544, 2350/2544 และ 2352/2544 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 และเรียกจำเลยสี่สำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 ที่ 11 ตามลำดับ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสี่สำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสี่สำนวนเป็นใจความอย่างเดียวกันขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน และห้ามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและบ้านเลขที่ 52/1, 70/1, 57/6 และ 59/3 กับทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวาร และห้ามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 904 และที่ดินโฉนดเลขที่ 905 ของโจทก์ที่ 1 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นฎีกาดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในคำแก้ฎีกาไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา การกระทำใด ๆ ในรูปแบบของนิติบุคคลที่จะมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 จึงต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ทั้งในตราสารจัดตั้งก็ระบุว่าต้องมีการประทับตราสำคัญ แต่พระราชสุธรรมาภรณ์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายประกอบมีอำนาจฟ้องคดีและทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ แทนโจทก์ที่ 1 โดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 การมอบอำนาจจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 วรรคสาม บัญญัติว่า เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป เท่านั้น หาได้บังคับว่าการกระทำกิจการแทนวัดจะต้องประทับตราสำคัญของวัดด้วยไม่ ทั้งในกรณีของโจทก์ที่ 1 นี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีตราสารจัดตั้งที่จำกัดอำนาจของพระราชสุธรรมาภรณ์ให้ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ยกขึ้นอ้างมาในฎีกา ดังนั้น แม้หนังสือมอบอำนาจที่พระราชสุธรรมาภรณ์มอบอำนาจให้นายประกอบมีอำนาจฟ้องคดีและทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ แทนโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ทั้งสองแนบสำเนาภาพถ่ายมาท้ายฟ้องจะปรากฏว่าพระราชสุธรรมาภรณ์เพียงแต่ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ไว้ด้วยก็ตาม หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายประกอบจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ที่ 1 ได้
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ฎีกาเป็นทำนองว่า นายประกอบทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 โดยขณะทำหนังสือสัญญาไม่มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ จึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ให้การต่อสู้คดีแต่เพียงว่า หนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2540 ไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 นายประกอบจึงไม่มีอำนาจทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินตามฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ได้เท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การถึงว่า ขณะทำสัญญาเช่าไม่มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ สัญญาเช่าไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ประการสุดท้ายที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ฎีกาว่า หนังสือสัญญาเช่าที่ดินตกเป็นโมฆะ เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาเสียก่อน เนื่องจากมีข้อสัญญาระบุว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปีแรกแล้ว โจทก์ที่ 1 ต้องต่อสัญญาเช่าออกไปอีกจนกว่าจะครบ 30 ปี เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ไม่ว่าการทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินจะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ย่อมมีผลฟ้องร้องบังคับคดีได้แต่เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 จึงเป็นการเช่าที่ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตาม ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 11 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสี่สำนวนให้เป็นพับ.