คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องอ้างเหตุในอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นไม่ควรมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่2เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพราะผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและพ. แล้วดังนี้เป็นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคแรก ข้อเท็จจริงบางประเด็นตามคำร้องขอและคำคัดค้านยังโต้เถียงกันอยู่รับฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลชั้นต้นให้งดการสืบพยานประเด็นดังกล่าวเสียจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาปัญหานี้เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้และศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นที่ว่าพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมายร.9เป็นโมฆะหรือไม่เสียก่อน

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิตและนางสมศรี นายชิตกับนางสมศรีไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 4 คน นายชิตถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 เมษายน2536 ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องและนางเพลินจิต ทรัพย์มรดกมีทั้งที่ดินและเงินฝากธนาคารผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการจัดมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 1เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 6 คนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรคนที่ 1 ผู้ตายยังมีบุตรกับนางสมศรีอีก4 คน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2536 ผู้ตายถึงแก่ความตาย การจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องได้อ้างเหตุว่าศาลชั้นต้นไม่ควรมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและนางเพลินจิต เทพยสุวรรณแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกแล้ว ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เห็นว่าตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและนางเพลินจิต เป็นการตัดมิให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับมรดก ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่า พินัยกรรมดังกล่าวปลอมตกเป็นโมฆะ ซึ่งหากเป็นจริงดังคำคัดค้านผู้คัดค้านที่ 2 ก็มีสิทธิ ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่หากเป็นจริงดังคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย ดังนั้นประเด็นที่ว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่จึงเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นให้งดการสืบพยานประเด็นดังกล่าวเสียจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาปัญหานี้เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วย มาตรา 246, 247 อาศัยอำนาจตามมาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243(3)(ข) ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นที่ว่าพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย ร.9 เป็นโมฆะหรือไม่เสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นที่ว่าพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย ร.9 เป็นโมฆะหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share