คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8194/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ส่งหนังสือตกลงซื้อตามที่จำเลยมีหนังสือยืนยันราคาโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 มาลงนามทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประกวดราคาให้แก่ อ. ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในบริษัท จำเลยที่ 1 จึงเป็นการส่งหนังสือตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โดยมีผู้รับไว้โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องไปทำสัญญาซื้อขายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขทั่วไปในการเข้าเสนอราคา เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาซื้อขายภายในระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวในฐานะผู้ค้ำประกันการยื่นซองประกาศราคาของจำเลยที่ 1 ในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแยกต่างหากจากกันโดยมิได้ ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อสินค้าในราคาสูงกว่าที่จำเลยที่ 1 ประกวดราคาได้ตามข้อตกลงในการประกวดราคาแต่เห็นว่าหลักประกันซึ่งเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์มีสิทธิรับเพียงพอกับค่าเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จึงให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในจำนวนเงินดังกล่าว เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์ฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ไม่ดำเนินการประกวดราคาใหม่โดยเร็วกลับปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี จึงประกาศประกวดราคาใหม่ จนทำให้ราคาเหรียญตัวเปล่าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นด้วย ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ได้ โดยอาศัยพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นประมาณตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,412,183 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,090,878 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,251,833 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,700,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 2,700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 551,833 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ตกลงซื้อและกำหนดให้จำเลยที่ 1 มาลงนาม ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ภายใน 10 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 โดยนายเอื้องฟ้าซึ่งอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ จึงเป็นการส่งหนังสือตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โดยมีผู้รับไว้โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องไปทำสัญญาซื้อขายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขทั่วไปในการเข้า เสนอราคา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปทำสัญญาซื้อขายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวชำระค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 4,090,878 บาท พร้อมดอกเบี้ย และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวในฐานะผู้ค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวในฐานะผู้ค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาของจำเลยที่ 1 ในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์จำนวนไม่เกิน 2,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแยกต่างหากจากกัน โดยมิได้ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระให้แก่โจทก์ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อสินค้าในราคาสูงกว่าที่จำเลยที่ 1 ประกวดราคาได้ตามข้อตกลงในการประกวดราคาแต่เห็นว่าหลักประกันซึ่งเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 2,700,000 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเพียงพอกับค่าเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จึงให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในจำนวนเงินดังกล่าวนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์ฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ไม่ดำเนินการประกวดราคาใหม่โดยเร็วกลับปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี จึงประกาศประกวดราคาใหม่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2537 จนทำให้ราคาเหรียญตัวเปล่าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นด้วย ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ได้ โดยอาศัยพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 350,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share