แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คเบิกเงินจากธนาคารเอง เมื่อได้รับเงินแล้วจึงมอบเงินแก่ภริยาโจทก์ เป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง มิใช่การชำระหนี้ด้วยเช็คตามมาตรา 321 เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมหรือโจทก์มาแสดงจำเลยจะนำสืบถึงการใช้เงินดังกล่าวมิได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาถึงการชำระหนี้อีกจำนวนหนึ่งว่า โจทก์กับจำเลยตกลงให้ ส. ทำหลักฐานการชำระเงินและโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้ ในชั้นสืบพยานจำเลยกลับปรากฏจากการนำสืบว่าจำเลยไปพบกับ ส. และมีการชำระเงินสดและทำหลักฐานการรับเงินเอาไว้ ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปร่วมรับชำระหนี้และลงลายมือชื่อไว้ในใบรับเงินด้วยดังเช่นข้อความในฎีกาของจำเลย ดังนั้น ฎีกาจำเลยเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นมาใหม่ในชั้นฎีกา โดยเป็นข้อที่ยังมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 130,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน144,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 130,000บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญากู้ยืมแล้ว แต่โจทก์ไม่คืนสัญญากู้ยืมให้จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 130,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งที่สองด้วยเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาบุรีรัมย์ ลงวันที่ 2 เมษายน 2539 จำนวน 50,000 บาท จึงเหลือหนี้ต้นเงินที่โจทก์จำเลยพิพาทกันในชั้นฎีกา 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์แล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการชำระเงินกู้ยืมครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539 นั้น จำเลยได้เป็นผู้ลงชื่อรับเงินตามเช็คจากธนาคารกรุงเทพจำกัด มหาชน สาขาบุรีรัมย์ และครั้นขึ้นเงินได้แล้วก็มอบเงินสดให้แก่นางทองดีภริยาโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าการชำระหนี้เงินกู้ยืมของจำเลยแก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ด้วยเงินสด มิใช่การชำระหนี้ด้วยเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 เพราะจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คเบิกเงินจากธนาคารเอง ได้รับเงินแล้วจึงมอบเงินแก่ภริยาโจทก์ ฉะนั้นรูปเรื่องนับว่าต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมหรือโจทก์มาแสดงจำเลยก็จะนำสืบถึงการใช้เงินดังกล่าวมิได้ โดยต้องฟังว่าจำเลยยังมิได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมเป็นจำนวน 50,000 บาทแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยได้ชำระหนี้ครั้งที่สามจำนวน 30,000 บาท และดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการชำระเงินครั้งที่สามในวันจดทะเบียนโอนขายที่ดินจำเลยได้ชำระเงิน 30,000 บาท และดอกเบี้ยอีก 15,000 บาทแก่โจทก์ โดยโจทก์ จำเลย ภริยาโจทก์ ตกลงให้นายสนธยาทำหลักฐานการชำระเงินและโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้หนังสือดังกล่าวมอบให้นายสนธยาเก็บรักษาไว้ ซึ่งในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยเบิกความว่าในวันดังกล่าว พยาน นางทองดีภริยาโจทก์และบุตรเขยได้ไปพบนายสนธยา ไกรรณภูมิ และได้มีการต่อรองกันเหลือหนี้ที่จะต้องชำระจำนวน 45,000 บาท ครั้นนายสนธยาชำระเงินสดให้แก่นางทองดีแล้วก็ได้ทำหลักฐานการรับเงินไว้ ทั้งให้นางทองดีลงชื่อไว้เป็นหลักฐานและนายสนธยาพยานจำเลยก็เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในวันที่ 10 กันยายน 2539 จำเลย นางทองดีและกำนันสุพจน์มาที่บ้านพยาน พยานได้ชำระเงินสดแก่นางทองดีแทนจำเลยจำนวน 45,000 บาท และได้เก็บหลักฐานการรับเงินไว้ ซึ่งความไม่ปรากฏเลยว่าโจทก์ได้ไปร่วมรับชำระหนี้และลงลายมือชื่อไว้ในใบรับเงินด้วยดังเช่นข้อความในฎีกาของจำเลยอันถือเป็นข้อสำคัญของประเด็นเรื่องนี้ ดังนั้น ฎีกาจำเลยจึงได้ความแตกต่างไปจากข้อนำสืบของจำเลย หรืออีกนัยหนึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาใหม่ในชั้นฎีกาโดยเป็นข้อที่ยังมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน