คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ขายที่ดินให้แก่จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเองมาโดยตลอด การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)ซึ่งเป็นการได้ภายหลังจากนั้นและมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ7 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทางราชการจึงออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) แก่โจทก์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยจำนวน 14,000 บาท และตกลงให้จำเลยเข้าทำกินในที่ดินแปลงนี้แทนดอกเบี้ยจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้คืน ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2539 โจทก์ประสงค์จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จึงนำเงินจำนวน 14,000 บาท ไปชำระคืนแก่จำเลยและให้จำเลยส่งมอบที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากทำนาเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วโจทก์จะมีรายได้สุทธิปีละประมาณ 15,000 บาทขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) เลขที่ 821 ตำบลโพธิ์วงศ์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้ส่งมอบที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยรับเงินชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 14,000 บาท คืนไปจากโจทก์ด้วย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายปี ปีละ 15,000 บาท นับจากปี 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์และบิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยในราคา14,000 บาท จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของ ปี 2527ทางราชการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก.4-01) ในที่ดินพิพาท จำเลยไม่เคยให้โจทก์กู้ยืมเงิน และโจทก์ไม่เคยติดต่อขอชำระหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่เคยทำนาในที่ดินจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1 ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทางราชการได้กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและโจทก์มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2526จนถึงปัจจุบัน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยและมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ในปัญหาแรกโจทก์เบิกความว่า ในปี 2526 โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยจำนวน 14,000 บาท และมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย สัญญากู้ยืมเงินอยู่กับจำเลย จำเลยเบิกความว่า โจทก์และบิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 และจำเลยครอบครองทำประโยชน์อย่างเจ้าของโดยเสียภาษีบำรุงท้องที่ ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ในชื่อของจำเลยมาโดยตลอด เห็นว่า พยานโจทก์คงมีลำพังตัวโจทก์ที่เบิกความว่า ทำสัญญากู้ยืมเงินจากจำเลย แม้โจทก์จะเบิกความว่าได้มีการทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหลักฐานไว้ แต่โจทก์ก็มิได้นำสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงยืนยันสนับสนุนคงเบิกความกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ว่า จำเลยเก็บสัญญากู้ยืมเงินไว้เท่านั้นนายปิ่น พักพงษ์ นายตรา ศรีสุวรรณ์ และนางพร ส้มหวาน น้องสาวโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ไม่ทราบว่าโจทก์กับจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินหรือทำสัญญาขายที่ดินพิพาท คงได้รับคำบอกเล่าจากโจทก์ว่าทำสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นพยานบอกเล่าที่รับฟังมาจากโจทก์อีกทอดหนึ่ง ความจริงจะเป็นดังที่โจทก์เล่าหรือไม่ จึงยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟัง โจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่าหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 โจทก์และนายสำลี ส้มหวาน บิดาโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ หรือเอกสารหมาย ล.1 ไม่ชอบและไม่ถูกต้องอย่างใดบ้าง กลับปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าว ระบุว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เขียนและลงชื่อเป็นพยานไว้ ทั้งพฤติการณ์ที่ปรากฏโดยจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทและเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเองมาโดยตลอด ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักฟังได้ว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยมิใช่มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยดังอ้าง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี 2526 และได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเองมาโดยตลอด การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นการได้ภายหลังจากนั้น และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยเช่นนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share