คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะทำสัญญากับจำเลย ภ. ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ คือโจทก์ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี การลงนามในสัญญาดังกล่าวเป็นการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนและตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการของโจทก์ ดังนี้ถือได้ว่า ภ. ได้กระทำการไปในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์มีอำนาจลงนามในสัญญาแทนโจทก์ได้โดยชอบ โดยไม่จำต้องมีการมอบอำนาจเพื่อการนี้อีก
เงินทุนมูลนิธิฟอร์ดมอบให้แก่รัฐบาลไทยเพื่อเป็นการช่วยเหลือในการจัดส่งข้าราชการไปศึกษาอบรมและฝึกงาน ณต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการไทยเมื่อโจทก์ติดต่อจนได้รับทุนมาแล้วได้จัดส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาณ ต่างประเทศ โดยโจทก์จำเลยทำสัญญากันว่า เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการในสังกัดโจทก์ ดังนี้ วัตถุประสงค์ของสัญญาที่ทำกันไว้หาได้ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ทำไว้
จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินเดือนที่ได้รับไปจากโจทก์พร้อมด้วยเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินเดือนคืนให้แก่โจทก์อันเป็นการบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์ส่วนหนึ่งแล้วจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของจำเลยที่ 1 และประโยชน์อันจะพึงมีแก่โจทก์โดยส่วนรวมแต่ถ่ายเดียว จึงมีเหตุผลที่ควรได้รับความเห็นใจ เห็นได้ว่าในกรณีเช่นนี้การคิดเอาเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 2 อีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินทุนที่ต้องชดใช้คืนน่าจะสูงเกินส่วน สมควรลดเบี้ยปรับเฉพาะส่วนนี้ลงกึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันฎีกาขอให้ลดจำนวนเบี้ยปรับแต่เพียงผู้เดียวเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับและกรณีเป็นหนี้ร่วมกันจะแบ่งแยกมิได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับราชเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทได้รับทุนมูลนิธิฟอร์ดจากการอนุมัติของโจทก์ให้ไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า เมื่อเสร็จการศึกษาหรือถูกเรียกตัวกลับจะต้องรับราชการในสังกัดโจทก์ฯ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้คืนเงินทุนเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มหรือเงินอื่นใดทั้งสิ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากทางราชการในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาหรือฝึกอบรมแก่โจทก์ กับยอมจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเท่ากับเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืน จำเลยที่ 2 ได้เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่กลับมารับราชการและยื่นใบลาออกจากราชการโดยยอมใช้เงินเดือนที่ได้รับไประหว่างศึกษาพร้อมเบี้ยปรับแก่โจทก์แล้ว แต่เงินทุนมูลนิธิฟอร์ดของรัฐบาลไทยจำนวน 24,166.95 เหรียญสหรัฐกับเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าคิดเป็นเงินไทย 988,428.26 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชดใช้คืน ขอให้ศาลพิพากษาและบังคับ

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีหลายประการและว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากมูลนิธิฟอร์ดมาเป็นของโจทก์ เพราะเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ สัญญาท้ายฟ้องขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ ผู้ลงนามในสัญญาไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงิน 1,340,967.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า มูลนิธิฟอร์ดได้เสนอให้เงินทุนแก่รัฐบาลไทยเพื่อส่งข้าราชการไปศึกษาในต่างประเทศ รัฐบาลไทยโดยกรมวิเทศสหการเป็นผู้สนองรับทุนดังกล่าว โจทก์มีหนังสือถึงสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อติดต่อผ่านกรมวิเทศสหการขอรับทุนมูลนิธิฟอร์ด และได้ติดต่อโดยตรงกับมูลนิธิฟอร์ด เมื่อได้รับทุนแล้วโจทก์ได้ทำการคัดเลือกข้าราชการตามวิธีการและระเบียบที่โจทก์วางไว้ จำเลยที่ 1 ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทในสังกัดโจทก์เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกและได้รับทุนดังกล่าวไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ และเป็นผู้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาไปเพื่อการศึกษาณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการนี้ จำเลยที่ 1 ได้ยอมตนเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1ได้รับเงินทุนมูลนิธิฟอร์ดเพื่อการศึกษาเป็นเวลา 3 ปี สำเร็จการศึกษาแล้วขอลาศึกษาและฝึกงานต่ออีก 1 ปี รวมเวลาที่ไปศึกษาและฝึกงานเป็นเวลา4 ปี แล้วไม่ยอมกลับ ได้ขอลาออกจากราชการและได้ส่งเงินเดือนที่รับไปจากโจทก์ 4 ปีพร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่าของเงินเดือนคืนให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนเงินทุนมูลนิธิฟอร์ดที่ได้รับไปยังไม่ได้ใช้คืน

ประเด็นแรกในข้อที่ว่า นายภุชงค์จะมีอำนาจลงนามเป็นคู่สัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 แทนโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่มีการทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 นายภุชงค์ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน2515 ให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติคือโจทก์ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและทางนำสืบของโจทก์รับฟังได้ต่อไปว่าการลงนามในสัญญาเอกสารหมาย จ.4นายภุชงค์ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนและตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการของโจทก์ เห็นว่า นายภุชงค์ได้กระทำการไปในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ จึงมีอำนาจในการลงนามในสัญญาเอกสารหมาย จ.4 แทนโจทก์ได้โดยชอบ โดยไม่จำต้องมีการมอบอำนาจเพื่อการนี้ให้เป็นการซ้ำซ้อนอีก

ข้อฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินทุนจากมูลนิธิฟอร์ดโดยตรงไม่ได้รับจากรัฐบาลไทย โจทก์ไม่ชอบที่จะแสวงหาประโยชน์จากเงินของผู้อื่นทั้งขัดกับเจตนารมณ์ของเจ้าของเงินทุนซึ่งไม่ประสงค์ที่จะเรียกเงินคืน สัญญาเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ในข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเงินทุนดังกล่าวมูลนิธิฟอร์ดมีเจตจำนงที่จะมอบให้แก่รัฐบาลไทย เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการจัดส่งข้าราชการไปศึกษาอบรมและฝึกงาน ณ ต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่ราชการไทยซึ่งทางรัฐบาลไทยโดยโจทก์เป็นผู้ติดต่อ และเมื่อได้รับทุนมาแล้วได้จัดส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ เพื่อยังประโยชน์แก่ราชการของโจทก์ โดยทุนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับก็ได้ตกลงยอมรับที่จะปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของสัญญาที่ทำกันไว้ก็หาได้ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1จึงต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ทำไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาไม่ยอมกลับมารับราชการในสังกัดโจทก์ ทำให้ราชการของโจทก์ต้องเสียหายประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาต้องสูญไป ข้ออ้างฎีกาจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นเหตุอันควรแก่การรับฟัง

ในเรื่องจำนวนเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินเดือนที่รับไปจากโจทก์ 4 ปี พร้อมเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินเดือนคืนให้แก่โจทก์อันเป็นการบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ส่วนหนึ่งแล้ว และเมื่อคำนึงถึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ค้ำประกันมิใช่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง การที่จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของจำเลยที่ 1 และประโยชน์อันจะพึงมีแก่โจทก์โดยส่วนรวมแต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 2 มิได้รับประโยชน์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดสัญญาจึงมีเหตุผลที่ควรได้รับความเห็นใจ เมื่อพิจารณาเหตุดังกล่าวประกอบกันแล้วศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์โดยผู้อื่นเป็นต้นเหตุเช่นนี้ การคิดเอาเบี้ยปรับอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินทุนที่ต้องชดใช้คืนนั้นเห็นว่าน่าจะสูงเกินส่วน สมควรลดเบี้ยปรับเฉพาะส่วนนี้ลงกึ่งหนึ่งแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาโดยจำเลยที่ 2 ผู้เดียวฎีกา ก็เป็นหนี้ร่วมกันจะแบ่งแยกมิได้จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับผลเป็นคุณด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกัน ชำระเงิน 741,321 บาท 9 สตางค์ แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share