คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8187/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จแล้วโจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องโดยแก้ฐานความผิดว่าจำเลยเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้วเป็นวิธีการแสดงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยและไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 และ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 แต่กลับไม่ได้ปรับบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66, 100, 102 พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 15 ปี รวมจำคุก 30 ปี คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ และขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องเป็นว่า “…15, 66, 100, 102 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10…” ดังนั้น ข้อที่โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องนี้จึงเป็นการแก้ฐานความผิดทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้วนั้น เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย และไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่อย่างใด จึงนำมารับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 และ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 แต่กลับปรับบทลงโทษว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และไม่สั่งคืนธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ด้วย คืนธนบัตร 2 ฉบับของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share