คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดว่า จำเลยผู้กู้จะผ่อนชำระหนี้ ตามสัญญานี้ให้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่า โจทก์ผู้ให้กู้ นอกจากต้องการให้จำเลยผู้กู้ชำระดอกเบี้ยให้ตรงตามสัญญาแล้ว ยังให้ ผ่อนชำระต้นเงินอีกด้วยเพื่อจำเลยจะได้ไม่เป็นหนี้โจทก์พอกพูนสูงขึ้น อันจะเป็นภาระหนักต่อจำเลยที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อครบอายุสัญญา ทั้งโจทก์เองก็ต้องเสี่ยงภัยต่อการได้รับชำระหนี้ซึ่งค้างชำระจำนวนมาก ของจำเลยอีกด้วย โจทก์มิได้พึงหวังที่จะให้จำเลยค้างชำระดอกเบี้ยเพื่อ นำมาทบเป็นต้นเงินไม่ เพียงแต่ที่โจทก์กำหนดให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ทบเป็นต้นเงินนั้นเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัดมิฉะนั้นจะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อจำเลยผิดสัญญามิได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่ โจทก์ตรงตามสัญญา ทั้งโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ ก่อนกำหนดได้ การเลิกสัญญาและให้จำเลยชำระหนี้ก่อนกำหนดแก่โจทก์ จึงชอบแล้ว

ภายหลังที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงจำเลยแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เบิกเงินออกจากบัญชีหรือโจทก์ยังคงยินยอมให้จำเลยเบิกเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้อีกต่อไป การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งภายหลังที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อให้มีการ เดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทาง บัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวไม่อาจถือว่าโจทก์กับจำเลย ยังคงมีเจตนาให้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชียังคงมีอยู่ต่อไปโดย ไม่มีกำหนดเวลา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์ สาขาราชประสงค์ ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน 2,000,000 บาท สัญญาจะชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 มิถุนายน2529 และวันที่ 19 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีกโดยจะชำระหนี้ให้แล้วเสร็จในวันที่ 19 มิถุนายน 2537 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,000,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 31 มกราคม 2537 อันเป็นวันบอกเลิกสัญญาซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนเงิน 2,003,247.26 บาท หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นถึงวันฟ้องรวมเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนเงิน2,046,365.32 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 2,046,365.32บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 1,970,381.73 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญามาโดยตลอด การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จึงเป็นการมิชอบ สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2537 ต่อมาภายหลังโจทก์และจำเลยยังคงเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป ถือว่าได้มีการต่ออายุของสัญญาออกไปโดยปริยายและไม่มีกำหนดระยะเวลา โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องเพราะไม่ใช่อัตราที่โจทก์จะมีสิทธิคิดเอาโดยชอบและการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,004,617 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8กุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 จำนวน 10,000 บาท วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จำนวน 8,000 บาท วันที่ 8 มีนาคม 2537 จำนวน 30,000บาท วันที่ 23 มีนาคม 2537 จำนวน 30,000 บาท วันที่ 27 เมษายน 2537จำนวน 8,000 บาท วันที่ 25 พฤษภาคม 2537 จำนวน 30,000 บาท และวันที่ 29 มิถุนายน 2537 จำนวน 5,000 บาท หักชำระหนี้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจึงให้นำไปหักออกจากต้นเงิน โดยให้คิดหักดอกเบี้ยและต้นเงินออกทุกครั้งที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ และวันที่ 20 มิถุนายน 2528 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี กับยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์และให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวนสองฉบับให้มีผลบังคับถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2537 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2537 ในระหว่างอายุสัญญาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้โจทก์รวมเป็นเงิน 141,000 บาท

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ และโจทก์เลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของนางสาวอลิสาทรัพย์สำรวม พยานโจทก์ว่า หลังจากต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้ว จำเลยที่ 1เบิกเงินเกินบัญชีเรื่อยมาแต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือนตามที่ตกลงไว้ ทำให้มีหนี้ค้างชำระอยู่เป็นจำนวนมาก โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ ความข้อนี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่าข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยภายในวันที่ 26 ของเดือน ไม่ใช่เงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ผู้ให้กู้บอกเลิกสัญญาเสียได้เพราะโจทก์มิได้เสียเปรียบ หากจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไม่ชำระดอกเบี้ยภายในกำหนดโจทก์สามารถนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินได้นั้น ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 26 ของเดือนแต่ปรากฏตามรายงานบัญชีกระแสรายวันว่า ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2536วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2537 วันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 เพิ่งจะนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันดังกล่าวเพียงครั้งเดียว จำนวนเงิน20,000 บาท เท่านั้น ตามใบสรุปแจ้งภาระหนี้ซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 5 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ผู้กู้จะผ่อนชำระหนี้ตามสัญญานี้ให้ลดน้อยลงเรื่อย ๆเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ผู้ให้กู้นอกจากต้องการให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยให้ตรงตามสัญญาแล้ว ยังให้ผ่อนชำระต้นเงินอีกด้วย เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ไม่เป็นหนี้โจทก์พอกพูนสูงขึ้น อันจะเป็นภาระหนักต่อจำเลยที่ 1 ที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อครบอายุสัญญา ทั้งโจทก์เองก็ต้องเสี่ยงภัยต่อการได้รับชำระหนี้ซึ่งค้างชำระจำนวนมากของจำเลยที่ 1 อีกด้วย โจทก์มิได้พึงหวังที่จะให้จำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยเพื่อนำมาทบเป็นต้นเงินดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ เพียงแต่ที่โจทก์กำหนดให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินนั้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัดมิฉะนั้นจะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในสัญญาข้อ 5นั้นเอง มีข้อกำหนดว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาแล้วได้ ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควรและโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญามิได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตรงตามสัญญา ทั้งโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ก่อนกำหนดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว การเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ก่อนกำหนดแก่โจทก์จึงชอบแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่าภายหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีเจตนาให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดมีผลบังคับต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา โดยโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2537 รวม 8 ครั้ง เป็นเงิน 141,000 บาท เมื่อโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาอีก โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ภายหลังที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงจำเลยทั้งสองแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินออกจากบัญชีหรือโจทก์ยังคงยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้อีกต่อไป ตามรายงานบัญชีกระแสรายวันไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่านับแต่วันที่ 31 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไป การที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งภายหลังที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันแล้ว ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เท่านั้นไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวไม่อาจถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงมีเจตนาให้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชียังคงมีอยู่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่

พิพากษายืน

Share