คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8185/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดว่าทางหน้าตึกที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีตและเทพื้นคอนกรีตเป็นทางที่เจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นทางสาธารณะจึงเป็นทางสาธารณะจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองอาจใช้ยันผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เว้นแต่ผู้ร้องจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคสอง(2) ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ศาลต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีดังนั้นในกรณีนี้แม้โจทก์ที่2ไม่ได้มีคำขอมาในคำคัดค้านให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ที่2ด้วยศาลชั้นต้นก็มีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ที่2ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา167

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันรื้อกำแพงคอนกรีตและพื้นคอนกรีตในกำแพงให้พ้นจากทางเข้าออกหน้าตึกแถวของโจทก์ และทำทางเข้าออกให้มีพื้นที่กว้างเท่าเดิม ถ้าจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 3,000 บาทจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้โจทก์รื้อถอนกำแพงและพื้นคอนกรีต โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลชั้นต้น ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวในที่ดินโฉนดเลขที่ 3171 และ 58866 แขวงบางซื่อเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยซื้อจากคุณหญิงวลี ยุวบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2518 ที่ดินโฉนดเลขที่ 58866 ผู้ร้องรับซื้อไว้พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบกิจการค้า มีเนื้อที่ 81 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 3171 เนื้อที่2 งาน 28 ตารางวา ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ต่อมา พ.ศ. 2519 ได้แบ่งแยกที่ดินแปลงหลังนี้ออกไปเป็นแปลงย่อยอีก 4 แปลง คงเหลืออยู่ในโฉนดเดิม 76 ตารางวา โดยไม่ได้ก่อสร้างสิ่งใด ๆ แต่ได้ปิดป้ายสงวนสิทธิว่าเป็นที่ส่วนบุคคลให้ผู้ที่ผ่านไปมาทราบครั้นพ.ศ. 2527 ผู้ร้องได้เทพื้นและสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 3171 ที่ยังเหลือจากการแบ่งแยกเพื่อใช้เป็นที่เก็บของและจอดรถยนต์ของผู้ร้องโดยเว้นพื้นที่เป็นช่องทางให้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงอาศัยเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 มีหมายบังคับคดีปิดประกาศที่กำแพงคอนกรีตที่ผู้ร้องได้สร้างไว้บังคับให้จำเลยและบริวารรื้อกำแพงคอนกรีตและพื้นคอนกรีตในกำแพงให้พ้นจากทางเข้าออกหน้าตึกแถวโจทก์ทั้งสอง และทำทางเข้าออกให้พื้นที่กว้างเท่าเดิม หมายบังคับคดีดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามกฎหมาย เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนและสิทธิใด ๆ ในพื้นที่และรั้วกำแพงคอนกรีตของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสองคำพิพากษาของศาลไม่ผูกพันผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งงดการบังคับคดีตามหมายบังคับคดี และปล่อยทรัพย์ที่จะต้องถูกบังคับ
โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3171 เป็นทางสาธารณะคดีถึงที่สุด โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวจากการที่คุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ กับพวกเข้าหุ้นกันจัดสรรขาย ซึ่งผู้จัดสรรได้จัดแบ่งที่พิพาทเป็นถนนสาธารณะเพื่อให้ผู้ซื้อตึกแถวได้เข้าออกโดยสะดวกโดยกำหนดแผนผังและประกาศให้ผู้ซื้อตึกแถวทราบโดยตลอด เมื่อผู้ร้องได้รับโอนที่ดินที่ดินจากคุณหญิงวลีก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จะไม่กระทำการใด ๆ ให้เป็นการกีดขวางทางสาธารณะ ที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้ก่อกำแพงและเทพื้นคอนกรีตในที่พิพาทแต่เพียงผู้เดียวโดยจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าการก่อสร้างดังกล่าวจำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งผู้ร้องเป็นบุตรจำเลยที่ 1 และเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับจำเลยที่ 2 และก่อสร้างหลังบ้านจำเลยทั้งสองด้วย ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์ จำเลยทั้งสองเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย การที่ผู้ร้องเว้นที่ให้ผู้มีตึกแถวอยู่ข้างหลังใช้เป็นทางเดินเข้าออกได้บ้างเป็นการยอมรับว่าที่พิพาทเป็นถนนสาธารณะ การยื่นคำร้องของผู้ร้องก็เพื่อเจตนาประวิงคดี โดยไม่ยอมร้องสอดเข้ามาตั้งแต่ต้นทั้ง ๆ ที่ทราบการฟ้องร้องระหว่างโจทก์จำเลยมาแต่ต้น การร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ร้องฎีกาข้อแรกว่า ผู้ร้องนำสืบได้ว่าที่ดินก่อสร้างกำแพงและเทพื้นคอนกรีตไม่ใช่ทางสาธารณะข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้ศาลอุทธรณ์คดีถึงที่สุดว่า ทางด้านตึกที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีตและเทพื้นคอนกรีตเป็นทางที่เจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นทางสาธารณะจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองอาจใช้ยันผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่ผู้ร้องจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง(2)ข้อนี้ผู้ร้องเบิกความเป็นพยานว่า คุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ ไม่ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะ แต่คุณหญิงวลีกลับเบิกความเป็นพยานผู้ร้องว่าจำไม่ได้ว่าได้ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะหรือไม่ คำเบิกความของผู้ร้องและคุณหญิงวลีจึงแตกต่างกันไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงและเทคอนกรีตเป็นทางสาธารณะ และเมื่อที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงและเทคอนกรีตเป็นทางสาธารณะ ไม่ใช่ที่ดินของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะคัดค้าน
ผู้ร้องฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2ไม่ชอบ เพราะโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ขอให้ใช้นั้น เห็นว่า ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ศาลต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ดังนั้น ในกรณีนี้แม้โจทก์ที่ 2ไม่ได้มีคำขอมาในคำคัดค้านให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยก็ดี ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในการร้องสอดก็ดี ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share