คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8173/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ผู้เสียหายจะถือมีดเข้าไปในบ้านของมารดาจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมาพบได้มีการพูดจาโต้ตอบกันและผู้เสียหายได้บอกแก่จำเลยแล้วว่าไม่ใช่ขโมย เหตุที่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์จึงหมดไปแล้ว ไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันอีก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 และ 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 7 ปี 6 เดือน ฐานพาอาวุธ ปรับ 75 บาท รวมจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 75 บาท ให้ยกฟ้องในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 62 (ที่ถูกมาตรา 62 วรรคแรก), 69 และ 80 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายถูกที่ไหล่ซ้าย เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจำเลยให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.8 ไปตามความจริงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.8 ปรากฏข้อความว่า คืนเกิดเหตุขณะที่จำเลยเฝ้าเครื่องวิดน้ำอยู่คนละฝั่งคลองกับบ้านของมารดาจำเลย เห็นคนถือตะเกียงแก๊สเดินผ่านบ้านของมารดาจำเลยไป จำเลยสังเกตดูอยู่ตลอดเพราะที่บ้านของจำเลยทรัพย์สินหายบ่อย แล้วจำเลยพายเรือข้ามคลองมาซุ่มอยู่ที่ชายคลอง สักพักมีคนเดินถือตะเกียงแก๊สเข้าไปใต้ถุนบ้านของมารดาจำเลยและดับตะเกียง จำเลยเดินไปดักคนที่ถือตะเกียงด้านหน้าแล้วตะโกนถามว่าใคร คนที่เดินอยู่ใต้ถุนบ้านของมารดาจำเลยพูดว่าไม่ใช่ขโมย จำเลยเห็นคนดังกล่าวถือมีดอยู่ด้วย จึงได้นำอาวุธปืนที่ติดตัวมายิงไป 1 นัด ถูกที่บริเวณไหล่ซ้าย ต่อมาจึงทราบว่าเป็นผู้เสียหายซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของมารดาจำเลย ข้อความที่ปรากฏในคำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8 ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าแม้ผู้เสียหายจะถือมีดเข้าไปในบ้านของมารดาจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมาพบได้มีการพูดจาโต้ตอบกันและผู้เสียหายได้บอกแก่จำเลยแล้วว่าไม่ใช่ขโมย เหตุที่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์จึงหมดไปแล้ว ไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันอีกการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่โจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงปรับบทให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่อาจกำหนดโทษให้สูงไปกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยพอสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันเนื่องจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ตามที่จำเลยฎีกาอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 1 ปี 6 เดือน เป็นประโยชน์แก่จำเลยมากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share