แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าที่ค้างตามสัญญาเช่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ย 115,818,366.50 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีที่ค้างชำระแก่กรมสรรพากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 416,329,829.60 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่เดือนธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายระหว่างที่ครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองถึงวันฟ้อง 32,836,712 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายต่อเนื่องในอัตราวันละ 328,767.12 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมจะยุติการกระทำละเมิดและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น ให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นโมฆะตามฟ้องทุกฉบับ และให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกับโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการเช่าที่เป็นโมฆะ รวมทั้งที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนให้แก่บริวารทุกรายและจำเลยร่วมด้วย หากจำเลยที่ 1 และหรือจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่ปลูกบนที่ดินพิพาทและทำให้ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากโจทก์ทั้งสองต้องว่าจ้างให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำการรื้อถอนแทน ให้ขนย้ายทรัพย์สิน บุคคล รวมทั้งบริวารออกไปพร้อมทั้งส่งมอบที่ดินพิพาททั้งหมดคืนแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าทนายความ 56,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสยามฟิวเจอร์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1806, 1826, 1827 อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 14125, 35068 อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 125281 อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และให้ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระ 112,355,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 เมษายน 2557) ต้องไม่เกิน 3,463,006.50 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 2,874,960 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 200,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความแทนจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมคนละ 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1806 และเลขที่ 1827 อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1826 อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 14125 และเลขที่ 35068 อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 125281 อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร โจทก์ทั้งสองร่วมกันทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินพิพาททั้งหกแปลงดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 และวันที่ 2 สิงหาคม 2543 โจทก์ทั้งสองยังแยกกันทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 รายละ 2 ฉบับ แล้วโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญาเช่า ดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่จดทะเบียน และยังทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินโดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยที่ 2 ตกลงเช่าช่วงที่ดินพิพาทบางส่วนจากจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 27 ปี 6 เดือน โดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2547 ตามบันทึกข้อตกลงการเช่าช่วงที่ดิน สัญญาเช่าช่วงที่ดิน หนังสือสัญญาเช่าช่วงรวม 3 โฉนด และหนังสือสัญญาแบ่งเช่าช่วงที่ดิน วันที่ 9 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทที่เช่าช่วงให้จำเลยร่วมเช่าช่วงต่อเป็นเวลา 24 ปี 10 เดือน 5 วัน โดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินและหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดิน ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2556 จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่จดทะเบียนไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เพื่อชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งมีการแจ้งแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองบอกปัดไม่รับชำระหนี้ต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี แล้วมีหนังสือขอเพิกถอนนิติกรรมและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 สองครั้ง โดยมีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนอาคารและส่งมอบที่ดินพิพาทคืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า หนังสือสัญญาเช่าที่ดินมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองมิได้นำต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าที่ดินมานำสืบ คงมีเพียงสำเนาหนังสือสัญญาเช่า ไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองนำสำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 ซึ่งเป็นเอกสารเดียวกันกับเอกสารหมาย จ.96 มาสืบ โดยมีนายชาญ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.12 และ จ.96 สูญหายซึ่งโจทก์ทั้งสองได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย ส่วนจำเลยที่ 1 คงมีนายขภัช กรรมการจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความเพียงว่า หนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้าง คู่สัญญาไม่เคยบังคับกัน แต่ทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ทั้งสองนำไปใช้อ้างเรียกค่าเช่าจากบุคคลภายนอกให้ได้ค่าเช่าสูง ส่วนจำเลยที่ 1 นำไปใช้ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินและนำที่ดินออกให้เช่าช่วงได้ค่าเช่าสูงเช่นกัน อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้รับแล้วว่าเอกสารดังกล่าวมีอยู่จริง จึงฟังว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินทั้งสองฉบับกับโจทก์ทั้งสองจริง เมื่อต้นฉบับเอกสารดังกล่าวหาไม่ได้เพราะสูญหายไป การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์ทั้งสองนำสำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินทั้งสองฉบับและพยานบุคคลมาสืบถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำสำเนาเอกสารและพยานบุคคลมาสืบแล้ว สำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินทั้งสองฉบับจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2) อีกทั้งศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 88 ได้ หากศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ทั้งนี้ตามมาตรา 87 (2) ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านการรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.96 จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสองไม่เคยถือปฏิบัติตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 จ.13 และ จ.14 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายชาญผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสอง มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 18 ปี 11 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2542 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 และมีข้อตกลงให้ปลอดค่าเช่า 11 เดือน โดยจำเลยที่ 1 จะเริ่มชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 เป็นต้นไป โดยเป็นการชำระแบบเหมาจ่ายไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นการชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือที่ 2 ฝ่ายละเท่าใด กำหนดชำระค่าเช่าที่ดินทั้งหกแปลงในสามปีแรก ค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ. 12 ซึ่งในวันทำสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสองล่วงหน้าเพื่อเป็นเงินมัดจำรวม 12 เดือน เดือนละ 1,800,000 บาท รวม 21,600,000 บาท ชำระงวดแรก 3,000,000 บาท เป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ ฉบับละ 1,500,000 บาท เงินมัดจำส่วนที่เหลือจำนวน 18,600,000 บาท ชำระเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2543 รวม 5 งวด งวดละ 3,720,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปิ่นเกล้า รวม 10 ฉบับ โดยจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดินมาโดยตลอด ปรากฏตามสำเนาหลักฐานการชำระเงินค่าเช่าที่ดินพิพาทปี 2543 ถึงปี 2554 รวม 44 ฉบับ โดยเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเป็นเช็คในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปิ่นเกล้า เลขที่ 706-1-02XXX-X ส่วนเช็คที่นายสุรชัยหรือปฐวี ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายจากบัญชีชื่อนายสุรชัยหรือปฐวี ในบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปิ่นเกล้า เลขที่ 706-1-02XXX-X และเลขที่ 706-1-02XXX-X ซึ่งมียอดเงินเท่ากับค่าเช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 ถึงเดือนสิงหาคม 2555 ตามสัญญาเช่า กล่าวคือ เช็คจำนวน 1,800,000 บาท เป็นเช็คที่จ่ายเพื่อชำระค่าเช่าเดือนสิงหาคม 2543 ถึงเดือนกรกฎาคม 2546 เช็คจำนวน 2,160,000 บาท เป็นเช็คที่จ่ายเพื่อชำระค่าเช่าเดือนสิงหาคม 2546 ถึงเดือนกรกฎาคม 2549 เช็คจำนวน 2,376,000 บาท เป็นเช็คที่จ่ายเพื่อชำระค่าเช่าเดือนสิงหาคม 2549 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 เช็คจำนวน 2,613,600 บาท เป็นเช็คที่จ่ายเพื่อชำระค่าเช่าเดือนสิงหาคม 2552 ถึงเดือนสิงหาคม 2555 และหากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 จะจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดเป็นเช็คอีกฉบับหนึ่ง และบางครั้งจะจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดรวมค่าเช่าที่ค้างชำระในเช็คฉบับเดียว เช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าสั่งจ่ายโดยนายสุรชัยหรือปฐวี กับนายสมพงษ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ต่อมาเปลี่ยนเป็นนายสุรชัยหรือปฐวี ตามเช็ค ส่วนหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.13 ระบุค่าหน้าดินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสอง 20,000,000 บาท แบ่งชำระเป็นงวด งวดละ 2,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปิ่นเกล้า รวม 10 ฉบับ โจทก์ทั้งสองนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน 1 ฉบับ แต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เนื่องจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนเป็นเช็คจำนวน 10,000,000 บาท รวม 2 ฉบับ และชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองอีกจำนวน 750,000 บาท ซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ 1 ฉบับ คือเช็คจำนวน 750,000 บาท ส่วนเช็คอีก 2 ฉบับ ไม่ได้นำไปเรียกเก็บเงินเนื่องจากจำเลยที่ 1 มาขอเปลี่ยนเป็นเช็คฉบับละ 10,000,000 บาท จำนวน 2 ฉบับ แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่สามารถนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินได้ จากนั้นจำเลยที่ 1 มาขอเปลี่ยนเช็คอีกครั้ง และชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองอีก 750,000 บาท ซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ 750,000 บาท ส่วนเช็ค 10,000,000 บาท จำนวน 2 ฉบับ จำเลยที่ 1 มาขอเปลี่ยนเป็นเช็ค 5,000,000 บาท จำนวน 4 ฉบับ มีนายสุรชัยหรือปฐวีเป็นผู้สั่งจ่ายจากบัญชีของตนเอง ซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้จำนวน 3 ฉบับ อีก 1 ฉบับ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ขอเปลี่ยนเป็นเช็คของนายสุรชัยจำนวน 2,500,000 บาท และ 2,575,000 บาท โดยจำนวน 75,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ย เช็คทั้งสองฉบับสามารถเรียกเก็บเงินได้ จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2555 เป็นเงิน 20,406,400 บาท จำเลยที่ 1 โดยนายสุรชัยหรือปฐวีจึงสั่งจ่ายเช็ครวม 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เนื่องจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เห็นว่า เมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 และกรรมการของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองสอดคล้องกับจำนวนค่าเช่าที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 นับแต่งวดเดือนสิงหาคม 2543 เป็นต้นมา จนถึงงวดเดือนกันยายน 2555 ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้จำนวนเงินตามเช็ค ยังสอดคล้องกับจำนวนค่าหน้าดินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.13 อันแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่แท้จริงว่าต้องการผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ทั้งนี้เพราะหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประสงค์ที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 ที่นำไปจดทะเบียนตามที่จำเลยที่ 1 อ้างแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 และกรรมการของจำเลยที่ 1 จะต้องสั่งจ่ายเช็คชำระค่าเช่าและค่าหน้าดินตามจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าอัตราค่าเช่าที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 จำนวนมาก ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหลักฐานใดมานำสืบว่า มีการชำระค่าเช่าตามจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 และ จ.19 ถึง จ.24 ที่นำไปจดทะเบียนแต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 1 นำค่าเช่าตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่จดทะเบียน เอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น โจทก์ทั้งสองก็บอกปัดไม่ยอมรับเงินดังกล่าว และมีหนังสือขอเพิกถอนนิติกรรมและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ถึง 2 ครั้ง ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์ที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่นำไปจดทะเบียน ตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างมาจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ส่วนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ล้วนเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเสียภาษีเงินได้ของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น โดยไม่ปรากฏหลักฐานใดว่ามีการชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทตามอัตราดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองจริง ประกอบกับโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 กำหนดค่าเช่าในอัตราเดียวตลอดอายุสัญญาและมีจำนวนต่ำกว่าอัตราค่าเช่าที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 จำนวนมาก โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 ขึ้นเพื่อนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมและภาษีเงินได้ของโจทก์ทั้งสอง เมื่อพิเคราะห์ถึงที่ตั้งและขนาดที่ดินที่เช่าซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมือง ตำบลสามเสนนอกฝั่งเหนือ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร รวม 6 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 25 ไร่ ซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงบางส่วนเพื่อปลูกสร้างเป็นอาคารศูนย์การค้าโดยกำหนดค่าเช่า 3 ปีแรกเป็นเงิน 15,000,000 บาท ต่อปี และเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี โดยในปีที่ 26 กำหนดค่าเช่าอัตราปีละ 32,153,832 บาท ในขณะที่หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 กำหนดค่าเช่าแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไว้ในอัตรา 120,000 บาท และ 140,000 บาท ต่อเดือน ตามลำดับตลอดอายุสัญญา ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราค่าเช่าที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าช่วงที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 ขึ้นโดยมีเจตนาเพื่อนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมและภาษีเงินได้ของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระค่าเช่าตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวล้วนขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองและเอกสารการชำระเงินตามเช็ค ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานใดว่ามีการชำระค่าเช่าจำนวน 120,000 บาท และ 140,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ที่ 2 เบิกความดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะเกิดจากความสับสน เนื่องจากโจทก์ที่ 2 มีอายุมากถึง 81 ปี และเจ็บป่วย ตามใบรับรองแพทย์ เอกสารแนบท้ายคำร้อง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ทั้งเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาเนิ่นนานตั้งแต่ปี 2542 แล้ว คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่ได้ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองเสียไปหรือรับฟังไม่ได้แต่ประการใด เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 แล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 และ จ.19 ถึง จ.24 ที่ได้นำไปจดทะเบียน หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 และจ.19 ถึง จ.24 ที่ได้นำไปจดทะเบียนจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ที่ทำขึ้นโดยมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากรตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตด้วยกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประการอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ