แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อเริ่มจ้างโจทก์จำเลยมีคำสั่งจ้างความว่า จะเลิกจ้างก่อนครบกำหนดระยะเวลาก็ได้ จะจ้างต่อก็ได้ คำสั่งจ้างต่อมาก็มีข้อความเป็นการจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอยู่เช่นเดิม ครั้นถึงการจ้างงวดสุดท้ายจำเลยกำหนดเวลาการจ้างไว้ และไม่มีข้อความดังคำสั่งฉบับก่อนๆดังนี้ การที่จำเลยจ้างโจทก์ตั้งแต่แรกจนถึงครั้งสุดท้ายจึงเป็นการจ้างที่ขยายเวลาการจ้างสืบต่อกันมาไม่ขาดสายถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงาน ลักษณะที่ทำเป็นงานประจำแต่จำเลยทำสัญญาจ้างเรียกโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างชั่วคราวมีสัญญาจ้างครั้งละ 2 เดือนขึ้นไปโดยต่อสัญญาให้ตลอดมา ถือได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำต่อมาจำเลยจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทุกสำนวนเป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยตามใบสมัครสอบคัดเลือกมีข้อความว่า รับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว 6 เดือน หากครบ 6 เดือนแล้วไม่จ้างต่อถือว่าเลิกจ้างโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องให้ค่าชดเชยแต่ต่อมาจำเลยได้จ้างโจทก์ทุกคนติดต่อกันหลายคราวโดยไม่ได้เลิกจ้างโดยระบุว่าเป็นการชั่วคราวและมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น ๆจึงเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้าคนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คำสั่งที่จำเลยเริ่มจ้างโจทก์มีข้อความว่า”หากครบกำหนดแล้วไม่จ้างต่อให้ถือว่าเลิกจ้าง หรือหากหมดความจำเป็น ก่อนครบกำหนดการจ้างให้เลิกจ้างได้” ก็มี ข้อความว่า “หากครบกำหนดแล้วไม่จ้างต่อให้ถือว่าเลิกจ้าง” ก็มี ล้วนแต่แสดงว่าเมื่อจำเลยเริ่มจ้างโจทก์จะเลิกจ้างก่อนครบกำหนดระยะเวลาก็ได้ จะจ้างต่อก็ได้ แม้คำสั่งจ้างฉบับต่อมาก็มีข้อความเป็นการจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอยู่เช่นเดิม ซึ่งในกรณีเช่นนี้เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมิได้กระทำความผิดย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ครั้นมาถึงการจ้างงวดสุดท้าย จำเลยกำหนดเวลาการจ้างไว้ 6 เดือน และ 2 เดือน ตามลำดับแต่ไม่มีข้อความว่า “หากครบกำหนดแล้วไม่จ้างต่อให้ถือว่าเลิกจ้าง หรือหากหมดความจำเป็นก่อนครบกำหนดการจ้าง ก็ให้เลิกจ้างได้” เพียงเท่านี้ จำเลยกลับจะแปลความตามคำสั่งดังกล่าวเป็นว่า สัญญาจ้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้วเพื่อให้โจทก์เสียสิทธิรับค่าชดเชยยอันเคยมีอยู่ตามคำสั่งจ้างที่ติดต่อกันมาหลายฉบับเป็นการไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย ศาลฎีกาถือว่าสัญญาจ้างขยายเวลาการจ้างสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย เริ่มต้นการจ้างโดยถือว่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การจ้างต่อมาก็เป็นทำนองเดียวกันโดยตลอด เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1882/2526 นายทิพย์ ลิ้มน้ำคำ โจทก์ องค์การคลังสินค้า จำเลย
พิพากษายืน