คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8173/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทง. โจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิที่จะยึดถือและใช้ประโยชน์ตลอดจนต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่รถยนต์คันที่เช่าซื้อ และเมื่อได้ใช้เงินครบถ้วนแล้วรถยนต์นั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ หรือหากเกิดสัญญาเช่าซื้อกันโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ผู้เช่าซื้อในสภาพเดิมโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันที่เช่าซื้อมา แม้ในระหว่างที่โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้ออยู่นั้นโจทก์ได้ขายและส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อมาให้แก่ ส. โดยมีข้อตกลงให้ส. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือแทนโจทก์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ส.แต่บริษัท ง. ผู้ให้เช่าซื้อก็มิได้ตกลงด้วย โจทก์จึงยังคงเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับบริษัทง.ผู้ให้เช่าซื้ออยู่ และยังคงเป็นความผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อในฐานะที่เป็นผู้เช่าซื้อมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดในรถยนต์คันที่เช่าซื้อต่อบริษัทง. ตามสัญญาเช่าซื้อและตามกฎหมายลักษณะเช่าซื้อ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันที่เช่าซื้อซึ่งเอาประกันวินาศภัยไว้แก่จำเลยสัญญา ประกันภัยย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์นั่งสองแถวโดยสารส่วนบุคคล ยี่ห้อยี่ซูซุ หมายเลขทะเบียน 6ร-2789 กรุงเทพมหานครไว้จากโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 เวลาประมาณ19 นาฬิกา นายสุรินทร์ ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวไปจอดที่บริเวณหน้าร้านขายหนังสือดวงกมลในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารถ แขวงถนนพญาไท เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร โดยได้ปิดล็อกกลอนประตูไว้เป็นที่เรียบร้อยต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายสุรินทร์ได้กลับมาที่จอด รถยนต์ไว้ แต่ปรากฏว่ารถยนต์ได้หายไป โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2532ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 210,750 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ร-2789 กรุงเทพมหานคร ไว้จากโจทก์จริงแต่โจทก์มิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ใช้ประโยชน์ในรถยนต์ดังกล่าว เพราะโจทก์ได้ขายและส่งมอบให้นายสุรินทร์ รอชซากี ไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์ขณะที่เอาประกันภัยสัญญาประกันภัยจึงไม่ผูกพันจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6ร-2789 กรุงเทพมหานครจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็มซีซี จำกัด โจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิที่จะยึดและใช้ประโยชน์ตลอดจนต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่รถยนต์คันที่เช่าซื้อและเมื่อได้ใช้เงินครบถ้วนแล้ว รถยนต์นั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ หรือหากเกินสัญญาเช่าซื้อกันโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ผู้เช่าซื้อในสภาพเดิม โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันที่เช่าซื้อมาแม้ในระหว่างที่โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้ออยู่ นั้นโจทก์ได้ขายและส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อมาให้แก่นายสุรินทร์โดยมีข้อตกลงให้นายสุรินทร์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือแทนโจทก์ซึ่งมีลักษณะเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่นายสุรินทร์แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็มซีซี จำกัดผู้ให้เช่าซื้อก็มิได้ตกลงด้วยโจทก์จึงยังคงเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซีจำกัด ผู้ให้เช่าซื้ออยู่ และยังคงมีความผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อในฐานะที่เป็นผู้เช่าซื้อ มีสิทธิหน้าที่และความรับผิดในรถยนต์คันที่เช่าซื้อต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี จำกัดตามสัญญาเช่าซื้อและตามกฎหมายลักษณะเช่าซื้อ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันที่เช่าซื้อซึ่งเอาประกันวินาศภัยไว้แก่จำเลยสัญญาประกันภัยย่อมผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อรถยนต์คันที่เช่าซื้อซึ่งเอาประกันวินาศภัยไว้แก่จำเลยหายไปจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาทรวมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน200,000 บาท นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2533ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป แต่ที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 210,750 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้นนั้นเป็นการขอคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน200,000 บาท นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 16 ตุลาคม 2533)ต้องไม่เกิน 10,750 บาท

Share