แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 4 ฉบับ จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้ตามฟ้องไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันทำสัญญากู้แต่ละฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้ ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ย่อมเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อนี้ตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธินำสืบถึงเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้หาถือว่าเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
เมื่อสัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงินแต่ละฉบับ ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดอายุความการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 413,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 413,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2535 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวน 273,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 40,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 และวันที่ 28 มิถุนายน 2536 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์อีกจำนวน 80,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบถึงเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 4 ฉบับ จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้ตามฟ้องไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันทำสัญญากู้แต่ละฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้ ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ย่อมเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อนี้ตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธินำสืบถึงเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ หาถือว่าเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันกู้จนถึงกลางปี 2540 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น โจทก์คงมีตัวโจทก์เบิกความแต่เพียงปากเดียวว่า จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันกู้จนถึงกลางปี 2540 โดยชำระดอกเบี้ยรวมกันมาเดือนละ 5,412 บาท โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยเพิกเฉย เห็นว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ระบุข้อความทำนองเดียวกันว่าจำเลยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ทุกเดือนไปจนกว่าจะนำเงินต้นส่งให้แก่โจทก์จนครบตามจำนวน ในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดจำเลยยอมให้โจทก์ฟ้องร้องเงินต้นและดอกเบี้ยตามกฎหมาย ดังนั้น หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตั้งแต่กลางปี 2540 เป็นต้นมา โจทก์ก็ชอบที่จะบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัด แต่หนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.5 โจทก์กลับเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 คืนทั้งหมด โดยโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ไม่ได้จัดทำบัญชีเกี่ยวกับรายละเอียดที่จำเลยชำระดอกเบี้ยให้ตั้งแต่วันกู้จนถึงกลางปี 2540 อันเป็นการเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่นำสืบว่าจำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ซึ่งหากจำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จริงโจทก์ก็ชอบที่จะทำบัญชีการชำระดอกเบี้ยไว้เป็นหลักฐานเพื่อประโยชน์ในทางคดีของโจทก์ คำเบิกความของโจทก์จึงไม่สมเหตุสมผล ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงินแต่ละฉบับ ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดอายุความการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ