คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ แม้บัญชีเดินสะพัดและบัญชีหนี้ค้างนาน โจทก์เป็นฝ่ายทำขึ้นเองโดยจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง แต่โจทก์เป็นธนาคารมีหน้าที่จะต้องจัดทำบัญชีและหลักฐานต่าง ๆ ขึ้นสำหรับลูกค้าของโจทก์ทุกรายเพื่อแสดงยอดเงินฝากและเงินถอนระหว่างโจทก์กับลูกค้าแต่ละรายว่าเป็นหนี้ต่อกันหรือไม่เพียงใด เมื่อมีเหตุผลทำให้เชื่อว่ายอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดและบัญชีหนี้ค้างนาน โจทก์คิดคำนวณโดยสุจริตในการดำเนินธุรกิจของตนถูกต้องตรงกับความจริง ศาลก็รับฟังบัญชีดังกล่าวนั้นได้ การที่โจทก์มิได้อ้างเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเบิกเงินไปจากบัญชีรวมทั้งใบแจ้งยอดหนี้ประจำเดือนมาเป็นพยานนั้น ไม่ถึงกับทำให้รับฟังบัญชีดังกล่าวไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์30,000 บาท เสียดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาได้ทำสัญญาเพิ่มวงเงินเป็น 85,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและร่วมรับผิดในวงเงินคนละ 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้อง 662,712.33 บาท จำเลยทั้งสามไม่ชำระขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 662,712.33 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 551,819.32 บาท โดยให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยจำนวน 68,074.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับพนักงานของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาดังกล่าวที่ยังไม่ได้กรอกข้อความโจทก์กรอกข้อความขึ้นเองในภายหลัง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไม่ได้สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่บุคคลภายนอกนับตั้งแต่พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา การแสดงยอดเงินฝากบัญชีของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นเองทั้งสิ้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมาโจทก์ไม่เคยมีหนังสือแจ้งรายการแสดงยอดเงินฝากของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ทราบทั้งจำเลยที่ 1 ได้ขอปิดบัญชีไปแล้วขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นเอง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า “ขณะจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมได้มีการกรอกข้อความลงในสัญญาทั้งสองฉบับครบถ้วนแล้ว และวินิจฉัยว่าปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด โจทก์นำสืบว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ ในวันที่ 27 มกราคม 2520 ในวงเงิน30,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10 แล้ว ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม2520 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มวงเงินจาก30,000 บาท เป็น 85,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.11 ศาลฎีกาได้ตรวจดูบัญชีเดินสะพัด เอกสารหมาย จ.14 แล้วปรากฎว่าในวันที่20 กรกฎาคม 2520 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 45,961.83 บาท ซึ่งเกินวงเงิน 30,000 บาท ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.10จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในขณะนั้นเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจริงมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 คงไม่ยอมทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมโดยเพิ่มวงเงินเป็น 85,000 บาท ให้ไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11และโจทก์นำสืบต่อไปว่า หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินไปหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2522 จำเลยที่ 1ได้ถอนเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 จำนวน 109,803.30 บาท นำเข้าบัญชีกระแสรายวันซึ่งเมื่อหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปออกแล้ว จำเลยที่ 1 คงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยในขณะนั้นรวมเป็นเงิน 261,343.21 บาท ปรากฏตามบัญชีเดินสะพัดประจำวันที่ 5 มกราคม 2522 หลังจากนั้นไม่มีการนำเงินเข้าฝากและถอนเงินเพื่อให้บัญชีเดินสะพัดอีกต่อไป โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 551,819.32 บาท ปรากฏตามบัญชีหนี้ค้างนาน เอกสารหมาย จ.15โจทก์คิดดอกเบี้ย (อย่างไม่ทบต้น) ต่อไปจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 662,712.33 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวคนละ 68,074 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า แม้บัญชีเดินสะพัดและบัญชีหนี้ค้างนานดังกล่าว โจทก์เป็นฝ่ายทำขึ้นเองโดยจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องก็ตาม แต่โจทก์เป็นธนาคารมีหน้าที่จะต้องจัดทำบัญชีและหลักฐานต่าง ๆ ขึ้นสำหรับลูกค้าของโจทก์ทุกรายเพื่อแสดงยอดเงินฝากและเงินถอนระหว่างโจทก์กับลูกค้าแต่ละรายว่าเป็นหนี้ต่อกันหรือไม่ เพียงใด จึงเชื่อว่ายอดหนี้เงินตามบัญชีเดินสะพัดและบัญชีหนี้ค้างนาน เอกสารหมาย จ.14 และจ.15 โจทก์คิดคำนวณโดยสุจริตในการดำเนินธุรกิจของตนและถูกต้องตรงกับความจริง การที่โจทก์มิได้อ้างเช็คที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินไปจากบัญชีมาเป็นพยานต่อศาลนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.14 จำเลยที่ 1 มิได้ถอนเงินไปจากบัญชีโดยการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินอย่างเดียว แต่มีรายการโอนและรายการเช็คเคลียริ่งรวมอยู่ด้วย ดังนั้นแม้โจทก์มิได้อ้างเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเบิกเงินไปจากบัญชีรวมทั้งใบแจ้งยอดหนี้ประจำเดือนมาเป็นพยานต่อศาลก็ตาม จะฟังเป็นพิรุธถึงกับว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีเดินสะพัด และบัญชีหนี้ค้างนานเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15หาได้ไม่ในเมื่อจำเลยที่ 1 ก็รับว่าได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์จริง คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 662,712.33 บาท จำเลยทั้งสามนำสืบลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอปิดบัญชีเดินสะพัดและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์แล้ว แต่หาได้มีหลักฐานมาแสดงแต่อย่างใดไม่จึงรับฟังไม่ได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาค้ำประกันตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ นอกจากโจทก์จะยินยอมหรือจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ชำระหนี้ที่ตนจะต้องรับผิดครบถ้วนแล้วเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ย่อมรับผิดไม่เกินวงเงินที่ค้ำประกันพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปเท่านั้น โจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2526 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือทวงถามและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถาม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน2526 ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 ถึง 11 จึงต้องชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2526 แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2526เป็นต้นไป พยานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักรับฟังมากกว่าพยานจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 662,712.33 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 551,819.32บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงินคนละ 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2526เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share