คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1592/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการพักอาศัยไม่มีเจตนาเพื่อใช้ประกอบพาณิชยกรรมเป็นความผิดตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เท่านั้นส่วนในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องมิใช่เป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ประกอบพาณิชยกรรม ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาที่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยไว้ ถือไม่ได้ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 65, 67, 69, 70ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และปรับจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนคำสั่ง รวมเป็นเวลา 112 วัน เป็นเงินค่าปรับ1,120,000 บาท อีกด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 65, 67, 69, 70เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ปรับ 60,000 บาทฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานไม่ระงับการก่อสร้างเป็นเวลา112 วัน ปรับวันละ 10,000 บาท เป็นเงิน 1,120,000 บาท รวมจำคุก6 เดือน ปรับ 1,180,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 590,000 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรรอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยกักขังมีกำหนด 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการพักอาศัยไม่มีเจตนาเพื่อใช้ประกอบพาณิชยกรรมเป็นความผิดตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งลงโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เท่านั้นส่วนในชั้นอุทธรณ์นั้นจำเลยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องมิใช่เป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ประกอบพาณิชยกรรม ดังนั้นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาที่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยไว้ ถือไม่ได้ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share