คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429-1430/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินและเรือนพิพาทเป็นของจำเลยมีราคารวมกัน150,000 บาท ในวันขายทอดตลาดโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีบอกจำเลยว่าศาลไม่มาให้กลับไปก่อน วันหลังจะขายใหม่แล้วเลื่อนการขายไปอีก 1 ชั่วโมงเศษและขายให้โจทก์ไปในราคา 21,500 บาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากโดยจำเลยไม่มีโอกาสคัดค้านดังนี้ การซื้อของโจทก์มิได้เป็นไปโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินและเรือนพิพาทไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาในสำนวนหลังให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีแพ่ง ให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนคำสั่งศาลกับเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนที่ดินพิพาท ส่วนในสำนวนแรกให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนางเพียร สุกแสง นางเพียรได้ยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3439 ตำบลบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยทั้งสองเมื่อ พ.ศ. 2509 ส่วนบ้านพิพาทจำเลยทั้งสองปลูกขึ้นเองในภายหลังประมาณ พ.ศ. 2514ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2514 นางเพียรได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาถอนคืนการให้ที่ดินพิพาท เพราะเหตุจำเลยทั้งสองผู้รับประพฤติเนรคุณ ในที่สุดได้ทำสัญญาประนีประนอมกันในศาล โดยจำเลยทั้งสองยอมส่งเสียเงินให้แก่ นางเพียรเดือนละ 200 บาท ทุก ๆ เดือนตลอดไปหากผิดนัดยอมให้นางเพียรบังคับคดีได้ทันที ศาลพิพากษาคดีตามยอมปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2519 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่นางเพียร นางเพียรจึงมอบฉันทะให้โจทก์บังคับคดีแทน โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยทั้งสอง โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3439 พร้อมเรือน 2 หลังแฝด เลขที่ 241 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ที่ค้างชำระตามคำพิพากษาตามยอม วันที่ 26 พฤษภาคม 2521 ซึ่งเป็นวันขายทอดตลาดครั้งแรก จำเลยทั้งสองไปศาลและชำระเงินที่ค้างนางเพียรให้แก่โจทก์ผู้รับมอบอำนาจจากนางเพียร 1,000 บาท จึงได้มีการขายทอดตลาดไว้ก่อน ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2521 จำเลยทั้งสองชำระเงินให้แก่นางเพียรอีก 500 บาท โดยมอบให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองก็ยังค้างชำระเงินให้แก่นางเพียรอยู่อีก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ผู้รับมอบฉันทะจากนางเพียรได้ขอให้ศาลขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดเป็นครั้งที่สอง ศาลประกาศกำหนดขายวันที่ 8 มกราคม 2522 เวลา 10 นาฬิกา ถึงวันนัดจำเลยทั้งสองและโจทก์ไปศาล นายสมาน ชุ่มขุนทด เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 ทำหน้าที่จ่าศาลได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทเมื่อเวลา 11.45 น. ขณะนั้นจำเลยทั้งสองได้กลับไปก่อน คงอยู่แต่โจทก์ มีเข้าสู้ราคา 3 คน รวมทั้งโจทก์สำหรับเรือน 2 หลังแฝดเลขที่ 241 โจทก์ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 10,500 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 3439 โจทก์ก็ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 11,000 บาท รวมทรัพย์ 2 รายการเป็นเงิน 21,500 บาท ต่อมาโจทก์ได้ชำระราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ครบถ้วน ศาลได้มีหนังสือให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาและนายอำเภอบัวใหญ่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและเรือนพิพาทตามลำดับให้แก่โจทก์

ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า โจทก์ซื้อที่ดินและเรือนพิพาทโดยสุจริต ในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือไม่ จำเลยทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ในวันที่ 8 มกราคม 2522 ซึ่งศาลนัดขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท จำเลยไปถึงศาลเวลาประมาณ 8 นาฬิกา มีนางทองแม้นเกตุใหม่ นายอ๊าต อนุกูล ไปเป็นเพื่อนด้วย ไปนั่งอยู่หน้าห้องพิจารณาเวลาประมาณ 9 นาฬิกา โจทก์ไปตาม แล้วเข้าไปคุยกับนายสมาน ชุ่มขุนทด ทำหน้าที่จ่าศาลในช่องที่ทำการของจ่าศาล จนเวลาประมาณ 10 นาฬิกา โจทก์เดินออกมาบอกว่า ศาล (หมายถึงศาลเคลื่อนที่) ไม่มาให้กลับไปก่อนวันหลังจะขายใหม่ จำเลยที่ 1 ไม่เชื่อ จึงเข้าไปถามนายสมาน นายสมานตอบว่าศาลไม่มาให้กลับไปก่อน จำเลยทั้งสองกับพวกจึงลงจากศาลพากันกลับบ้าน เมื่อลงมาถึงพื้นดินเห็นโจทก์ขี่รถจักรยานยนต์ออกไปจากศาลนอกจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยยังมีนางทองแม้นและนายอ๊าตมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยทั้งสองดังกล่าว โจทก์ก็เบิกความรับว่า ในวันขายทอดตลาดทรัพยสินพิพาทครั้งที่สองนั้น โจทก์ไปถึงศาลเวลา 10 นาฬิกาเศษ เห็นจำเลยทั้งสองกับบุคคลอื่นอีกประมาณ 10 คน นั่งอยู่ที่ศาลแล้ว จึงเจือสมข้อนำสืบของจำเลยทั้งสอง ถ้าโจทก์และนายสมานไม่บอกกับจำเลยที่ 1 ว่าศาลไม่มาให้กลับบ้านไปก่อนแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่จำเลยทั้งสองซึ่งตั้งใจมาฟังการขายทอดตลาดและดูแลส่วนได้เสียของตนจะกลับจากศาลก่อนที่มีการขายทอดตลาด และก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่นายสมานจะเลื่อนการขายทอดตลาดจากเวลา 10 นาฬิกา ตามที่ประกาศไว้ไปเป็นเวลา 11.45 นาฬิกา โดยไม่แจ้งให้จำเลยทั้งสองซึ่งไปรออยู่ทราบที่นายสมาน ชุ่มขุนทด พยานโจทก์เบิกความว่า วันขายทอดตลาดจำเลยทั้งสองจะมาศาลหรือไม่ พยานไม่ทราบ เพราะไม่รู้จักจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองไม่มาติดต่อกับพยานก็ไม่น่าเชื่อ เพราะตามบันทึกการขายทอดตลาดลงวันที่ 8 มกราคม 2522 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2514 นายสมานได้บันทึกไว้ว่า วันนี้เวลา 10.00 น. เป็นกำหนดนัดขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ ส่วนจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วจะไปศาลแต่ได้กลับก่อนและเวลา 11.45 น. มีบุคคลภายนอกมาประมูลให้ราคาจำนวนพอสมควรจึงได้ดำเนินการขายทอดตลาด แสดงว่าพยานรู้จักตัวจำเลยทั้งสองดีอยู่แล้ว จึงได้บันทึกไปเช่นนั้น การที่เลื่อนเวลาขายทอดตลาดออกไปเป็นเวลาถึง 1 ชั่วโมง 45 นาที พยานก็มิได้บันทึกเหตุผลไว้ ทั้งก่อนหน้านี้ประมาณ 3 เดือน พยานก็ถูกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครราชสีมาลงโทษทางวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ ด้วยความเอาใจใส่และระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ คือรับหนังสือราชการจากศาลแพ่ง 2 เรื่อง ที่ขอให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและส่งคำบังคับให้จำเลย แล้วกักเรื่องไว้ไม่ลงทะเบียนรับหนังสือและไม่เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นเป็นเวลา 3 เดือน อันเป็นทางส่อไปในทางจะช่วยเหลือคู่ความ ทำให้คดีต้องล่าช้าเป็นผลเสียหายแก่คู่ความอีกฝ่าย แต่เป็นความผิดที่ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรง จึงให้ลงโทษภาคทัณฑ์ไว้ตามเอกสารหมาย ล.13 และในที่สุดพยานก็ได้ลาออกจากราชการไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2522 หลังจากทำหน้าที่ขายทอดตาดทรัพย์พิพาท 23 วันส่วนโจทก์เองก็มีพฤติการณ์ในทางค้าความ คือนอกจากรับมอบฉันทะจากนางเพียรให้บังคับคดีกับจำเลยทั้งสอง รวมทั้งมีอำนาจรับเงินจากศาลหรือเงินที่ได้จากการบังคับคดีแทนนางเพียรแล้ว โจทก์ยังเบิกความว่า ยังได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนบ้าง ให้ต่อสู้คดีแทนบ้าง จำนวนประมาณไม่ถูก โจทก์ไปศาลบ่อยประมาณเดือนละ 6 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่โจทก์มิได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาด หลังจากชำระหนี้ให้โจทก์ผู้รับมอบฉันทะจากนางเพียรแล้วยังมีเหลืออยู่ โจกท์ก็ยังจะชอบให้ศาลเก็บไว้ไม่ให้จำเลยทั้งสองรับไป ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยเห็นว่าเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสองตามกฎหมายที่จะรับไปได้ ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะเก็บรักษาเงินของจำเลยทั้งสองไว้เพื่อจ่ายใช้หนี้อันยังไม่ถึงกำหนด โจทก์ก็ยังยื่นคำแถลงต่อศาลขอเป็นผู้รักษาเงินที่เหลือดังกล่าวไว้แทน เพื่อจัดแบ่งชำระเป็นงวด ๆ ให้แก่โจทก์ผู้รับมอบฉันทะจากนางเพียรต่อไป แต่จำเลยทั้งสองรู้เรื่องว่าทรัพย์พิพาทถูกขายทอดตลาดเสียก่อน จึงได้มีการคัดค้านกันขึ้น ส่อให้เห็นว่าโจทก์ดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยแทนนางเพียรในทางที่เอารัดเอาเปรียบจำเลยทั้งสองมาก ที่ดินโฉนดเลขที่ 3439 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 3 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา และเรือนพิพาทปรากฏตามรายงานการเผชิญสืบของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ในซอยแยกจากถนนเทศบาล 10 ลึกเข้าไปในซอยประมาณ 100 เมตร ถนนเทศบาล 10 ตอนถึงซอยเข้าที่ดินพิพาทแยกจากถนนนิเวศรัตน์สายบัวใหญ่ – ชัยภูมิ ไปประมาณ 500 เมตร ถนนเทศบาล 10 เป็นถนนลาดยาง ส่วนซอยเข้าที่ดินพิพาทเป็นถนนดินลูกรังกว้างประมาณ 5 เมตร สำหรับเรือนพิพาทเป็นเรือนแฝด 2 หลัง มีเสา 24 ต้น พื้นไม้กระดาน เป็นไม้เนื้อแข็งทั้งสองหลัง หลังคามุงสังกะสีมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องครัว 1 ห้อง ห้องโถงเป็นที่รับแขกไม่มีเพดานใต้ถุนสูงประมาณ 1.70 เมตร ปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.6 ในที่ดินมีต้อมะม่วงโตแล้วประมาณ 6 ต้น ต้นมะพร้าวโตแล้วประมาณ 10 ต้น ต้นน้อยหน่า ต้นขนุน ต้นมะขามหวาน ประมาณ 10 ต้น รอบ ๆ ที่พิพาทมีรั้วลวดหนามเสาไม้แก่นทั้งสี่ด้าน และตามประกาศขายทอดตลาดก็ปรากฎว่าเรือนพิพาทกว้างถึง 8 เมตร ยาว 12 เมตร โจทก์ก็นำสืบว่าที่ดินพิพาทอยู่ห่างที่ทำการประปาประมาณ 100 เมตร อยู่ห่างโรงเรียนสหกรณ์สมทบประมาณ 200 เมตร ที่ดินและเรือนพิพาทจะให้คนอื่นเช่าได้เดือนละ 1,000 บาท แสดงว่าที่ดินและเรือนพิพาทจะมีราคาและอยู่ในทำเลที่ค่อนข้างดี ที่ดินและเรือนพิพาทโจทก์ประมูลเพียง 21,500 บาท จึงนับว่าถูกมาก ถ้าให้เช่าเก็บค่าเช่าเพียง 2 ปี จะได้เงินถึง 24,000 บาท เกินราคาที่ซื้อแล้ว ดังนี้จึงน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทมีราคาประมาณ 90,000 บาท เรือนพิพาทมีราคาประมาณ 60,000 บาท รวม 150,000 บาท ดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบ ตามข้อเท็จจริงและเหตุผลต่าง ๆ ดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้ถูกโจทก์และนายสมานหลอกลวงว่าศาลไม่มาให้กลับไปก่อน วันหลังจะขายใหม่ แล้วนายสมานในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินและเรือนพิพาทให้โจทก์ไปในราคา 21,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยที่จำเลยทั้งสองไม่มีโอกาสคัดค้าน การที่โจทก์ซื้อที่ดินและเรือนพิพาทจากการขายทอดตลาดได้จึงมิได้เป็นไปโดยสุจริต

ที่โจทก์ฎีกาว่า ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดได้ ศาลชั้นต้นสอบถามราคาที่ดินไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาและเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบัวใหญ่แล้ว ก็ได้ความจากทั้งสองหน่วยราชการดังกล่าวว่าที่ดินพิพาทราคาไร่ละ 4,000 บาท เห็นว่า ที่พิพาทมีเนื้อที่ถึง 1 ไร่ 3 งาน 3 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา การที่เจ้าพนักงานที่ดินกำหนดราคาประเมินปานกลางไว้เพียงเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและกำหนดเป็นพื้นที่กว้าง ๆ ไว้เท่านั้น ความเจริญของพื้นที่และราคาซื้อขายตามราคาตลาดจึงไม่อาจจะไม่เท่ากันตลอดพื้นที่ ที่ทางราชการกำหนดราคาประเมินปานกลางไว้ โดยเฉพาะที่ดินพิพาทใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยและเป็นส่วนผลไม้ มีซอยตัดถึงที่ ใกล้ถนนใหญ่ อยู่ในเขตเทศบาลมีที่ทำการประปา และโรงเรียนอยู่ใกล้ ๆ จึงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ และการที่ศาลสอบถามราคาที่ดินจากเจ้าพนักงานที่ดินก่อนมีคำสั่งให้ขายทอดตลาด ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งซื้อที่ดินและเรือนพิพาทโดยไม่สุจริตดังที่ได้วินิจฉัยมาได้รับความคุ้มครอง” ฯลฯ

“สรุปแล้วเห็นว่า โจทก์ซื้อที่ดินและเรือนพิพาทในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลมิได้เป็นไปโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินและเรือนพิพาทและไม่มีอำนาจมาฟ้องขอให้บังคับกับจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเรือนพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก และให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2519 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนคำสั่งศาลถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาให้โอนที่ดินพิพาทในสำนวนหลังที่จำเลยทั้งสองเป็นโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share