คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำทำงานนอกเวลาทำงานตามปกติโดยทำสัญญาว่า การรับจ้างทำงานของโจทก์เป็นการทำงานที่มีลักษณะจ้างเหมา โดยมีค่าจ้างตามอัตราเงินเดือนแต่ไม่มีค่าจ้างทำงานล่วงเวลา ดังนี้ สัญญาดังกล่าวไม่มีผลบังคับ เพราะขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 34ซึ่งมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยให้โจทก์ทำงานนอกเวลาทำงานปกติโดยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ตามกฎหมาย คงจ่ายให้เพียงเท่าเดียวของอัตราค่าจ้างในเวลาทำงานปกติเท่านั้น ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์เป็นเงิน 33,442.15 บาท

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานประเภทรายเดือน ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานเกินเวลาโดยจ่ายค่าล่วงเวลาไม่ครบนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากการทำงานดังกล่าวจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือว่า จ้างกันเป็นกรณีพิเศษจากงานประจำโดยคิดค่าแรงตามที่ตกลงกันแล้วซึ่งโจทก์ได้รับทราบและได้ปฏิบัติติดต่อกันตลอดมาจนถึงวันเลิกจ้างและโจทก์ได้ยอมรับค่าแรงที่จำเลยจ่ายให้โดยมิได้โต้แย้งแต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์อีก 9,981.50 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งช่างไฟฟ้า นอกเหนือจากการทำงานประจำแล้วจำเลยให้โจทก์ทำงานนอกเวลาทำงานตามปกติวันละ 8 ชั่วโมง ตามจำนวนวันทำงานล่วงเวลาในแต่ละเดือนในเอกสารท้ายฟ้อง โดยจำเลยจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานดังกล่าวให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างปกติ 1 วันทำงาน คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาจากจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2515 ข้อ 34ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน เอกสารหมาย ล.1 ที่ระบุว่าการรับจ้างทำงานของโจทก์เป็นการทำงานที่มีลักษณะจ้างเหมา โดยมีค่าจ้าง “ตามอัตราเงินเดือน” แต่ไม่มีค่าจ้างทำงานล่วงเวลา จึงไม่มีผลบังคับเพราะขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share