แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ระหว่างที่โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัย และย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะให้มีการอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ต่อไปจึงได้กระทำการอันก่อให้เกิดความบาดหมางกันยิ่งขึ้นสุดที่จะอยู่กินด้วยกันได้อีก และนับแต่วันที่แยกกันอยู่ดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 4 ปี จำเลยไม่ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือกลับไปหาโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และในกรณีนี้โจทก์จำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาลให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด…” และมาตรา 1522 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด” ดังนี้ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) หรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่มีการเจรจาให้ปรองดองกันแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ และจำเลยแยกไปอยู่ที่อื่นแล้วระยะหนึ่ง ต่อมาในปลายปีนั้นเอง จำเลยทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัย และย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไปแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะให้มีการอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ต่อไปจึงได้กระทำการอันก่อให้เกิดความบาดหมางกันยิ่งขึ้นสุดที่จะอยู่กินด้วยกันได้อีก และนับแต่วันที่แยกกันอยู่ดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 4 ปี จำเลยไม่ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือกลับไปหาโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อโจทก์จำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาลให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด…” และมาตรา 1522 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด” ดังนี้ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข เมื่อได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบมาว่า หลังจากแยกกันอยู่ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2540 บุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ตลอดมา และโจทก์ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียว ประกอบกับจำเลยรับราชการเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 ซึ่งถือว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ จึงเห็นควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่ผู้เดียว และกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เดือนละ 3,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ก. ผู้เยาว์แต่ผู้เดียว และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4