คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6453/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี 6 เดือน จำนวน 26 กระทง และกระทงละ 6 เดือน จำนวน 6 กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้เมื่อรวมโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงแล้วศาลล่างทั้งสองให้จำคุกจำเลย 50 ปี ก็เป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) ไม่มีผลต่อข้อจำกัดในการฎีกาของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเบียดบังเอาเงินจากผู้ยืมเงินทดรองที่นำมาใช้คืนไปเป็นของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริตรวมเงินที่จำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและเบียดบังยักยอกเอาไป 26 กรรม เป็นเงิน 50,977.62 บาท และจำเลยได้รับใบสำคัญคู่จ่ายและหลักฐานการจ่ายเงินยืมทดรองสำหรับค่าใช้จ่ายในกิจกรรมนำนักศึกษาออกดูงานนอกสถานที่และค่าใช้จ่ายเมื่อประชุมกรรมการประจำคณะ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบ แล้วนำเสนอคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขออนุมัติชดใช้เงินยืมทดรอง เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจำเลยต้องจัดทำใบกำกับส่งเอกสารและจัดทำฎีกาเบิกเงินตามใบสำคัญคู่จ่ายที่ได้รับจากผู้ยืมจากคลังจังหวัดปทุมธานี มาชดใช้คืนเงินทดรองดังกล่าวให้ทันภายในปีงบประมาณเดียวกัน แต่จำเลยมิได้นำใบสำคัญคู่จ่ายและหลักฐานการจ่ายเงินทดรองดังกล่าวเสนอคณบดีเพื่อขออนุมัติชดใช้คืนเงินยืมทดรอง และไม่ได้จัดทำใบกำกับส่งเอกสารและทำฎีกาเบิกเงินตามใบสำคัญคู่จ่ายจากคลังจังหวัดปทุมธานี มาชดใช้คืนเงินยืมทดรองดังกล่าวภายในปีงบประมาณ ซึ่งเป็นปีงบประมาณเดียวกันอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวม 6 กรรม เป็นเหตุให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียหาย โดยเบิกเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 24,011 บาท มาใช้คืนเงินยืมทดรองดังกล่าวไม่ได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต (ที่ถูก และฐานเป็นเจ้าพนักงานและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 26 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 6 กระทง รวมจำคุก 136 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 68 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว (ที่ถูก ความผิดมาตรา 147 เป็นกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป) จึงให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต กระทงละ 2 ปี 6 เดือน และฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กระทงละ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้เมื่อรวมโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงแล้วศาลล่างทั้งสองให้จำคุกจำเลย 50 ปี ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ไม่มีผลต่อข้อจำกัดในการฎีกาของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในการกำหนดโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share