แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยจงใจขาดนัดพิจารณา จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ในคำพิพากษาว่า การขาดนัดพิจารณาของจำเลยเป็นไปโดยจงใจ ปัญหาเรื่องจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ จำเลยจะฎีกาอีกว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดพิจารณาอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอศาลมีคำสั่งว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ของนางระเบียบ เป็นโมฆะ ให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางระเบียบ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 5908 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา และไม่นำพยานเข้าสืบ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่าไม่จงใจ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ของนางระเบียบ เป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลใช้บังคับ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 5908 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ให้แก่โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องพิจารณาประการแรกว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่ ได้ความว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยจงใจขาดนัดพิจารณา จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ในคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 ว่า การขาดนัดพิจารณาของจำเลยเป็นไปโดยจงใจ ปัญหาเรื่องจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่จึงถือถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ จำเลยจะฎีกาอีกว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดพิจารณาอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาตามฎีกาจำเลยประการต่อมามีว่า พินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยจริงหรือไม่ โจทก์นำสืบว่านางระเบียบถูกจับกดพิมพ์ลายนิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรม แต่โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาพิสูจน์ยืนยันให้เห็นโดยตรง คงมีปัญหาว่าพยานแวดล้อมกรณีจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใด โดยโจทก์มีนายอดิศักดิ์ และนายนิรันดร์ เบิกความประกอบสัญญาซื้อขายที่พิพาทว่านางระเบียบขายที่พิพาทบางส่วนให้โจทก์ และนางทองใบตั้งแต่ปี 2536 แต่ที่พิพาทติดจำนองสหกรณ์การเกษตรแหลมสิงห์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2519 การซื้อที่พิพาทขณะติดจำนองอยู่จึงเป็นเรื่องผิดปกติไม่น่าเชื่อ เพราะผู้ซื้ออาจไม่ได้ที่ดินไปจริงหากผู้จำนองไม่ชำระหนี้ และต้องนำที่ดินออกขายทอดตลาด อีกทั้งการที่นางระเบียบขายที่พิพาทไปแล้ว ต่อมาทำพินัยกรรมโอนให้บุคคลอื่น ก็เป็นเหตุผลในการวินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 มากกว่าวินิจฉัยว่าพินัยกรรมปลอม อีกทั้งตามฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยจับมือนางระเบียบให้กดลายพิมพ์นิ้วมือลงในพินัยกรรมที่ได้เตรียมไว้ และพยานในพินัยกรรมมิได้ลงชื่อต่อหน้านางระเบียบ ซึ่งเท่ากับตามฟ้องโจทก์รับว่าข้อความในพินัยกรรมที่ระบุว่าทำขึ้นที่บ้านเลขที่ 52 เกิดจากความไม่สมัครใจโดยไม่ได้ยกประเด็นเรื่องสถานที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตามที่อยู่จริงขึ้นมาดังนั้นโจทก์มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบแสดงให้เห็นว่า นางระเบียบไม่ได้สมัครใจและถูกจับมือให้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ และพยานไม่ได้ลงชื่อต่อหน้านางระเบียบจริงหรือไม่แต่โจทก์กลับนำนางทองย้อย พระเบี้ย นายกิตติ และนางเจิม มาเบิกความว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันทำพินัยกรรม นางระเบียบปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดคลองชีพ กับพระเบี้ยบุตรชายคนโต ไม่ได้อยู่ที่บ้านเลขที่ 52 หมู่ 8 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ลงไว้ในพินัยกรรม ศาลฎีกาเห็นว่า หากนางระเบียบอยู่ที่วัดคลองชีพกับพระเบี้ยจริง พินัยกรรมพิพาทก็เป็นพินัยกรรมปลอม แต่เป็นปลอมคนละเหตุกับเหตุในฟ้อง และรับฟังไม่ได้เพราะเป็นการนำสืบนอกประเด็นตามคำฟ้องเนื่องจากเท่ากับนำสืบว่ากรณีมีการกดพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลอื่น ไม่ใช่ของนางระเบียบเองเพราะเป็นคนละสถานที่กันพยานบุคคลโจทก์ไม่อาจนำสืบหักล้างข้อความเรื่องสถานที่ทำพินัยกรรมในพยานเอกสารให้รับฟังได้ คดีโจทก์แม้นำสืบฝ่ายเดียวก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงต้องฟังว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าพินัยกรรมพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบและไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งแลพาณิชย์ มาตรา 1709, 1710 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเสียแล้วว่าพินัยกรรมพิพาทไม่เป็นพินัยกรรมปลอม คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องอายุความอีก เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีอีกต่อไป”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความใช้แทนทั้งสามศาล รวมชั้นขออนาถาทั้งหมดเห็นสมควรให้เป็นพับ