คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในชั้นฎีกาโจทก์และจำเลยโต้เถียงกันว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ขณะยื่นคำฟ้องเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท การที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิใช่ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ซึ่งโจทก์ได้รับมาจากมารดา ต่อมาโจทก์สมรสกับนายสมใจ จึงได้ร่วมกันสร้างบ้านเลขที่ 41 โรงเลี้ยงสุกร โรงเก็บยางพาราและรั้วอิฐบล็อกเพื่อล้อมบ้านในที่ดินพิพาท เมื่อปี 2541 โจทก์และนายสมใจได้หย่าขาดจากกันและขณะโจทก์และนายสมใจอยู่กินฉันสามีภริยากันนั้น โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 250/2541 ของศาลชั้นต้น ได้ยื่นฟ้องนายสมใจเป็นจำเลยและโจทก์ในคดีดังกล่าวนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านเลขที่ 41 โรงเลี้ยงสุกร โรงเก็บยาพารา และรั้วอิฐบล็อก ครั้นวันที่ 1 เมษายน 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว โดยมีจำเลยเป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด หลังจากนั้นจำเลยและบริวารได้เข้าครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท อันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่โจทก์เป็นผู้ครอบครองอยู่ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวของโจทก์อีกต่อไป หากจำเลยและบริวารไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโจทก์ขอเป็นผู้รื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่ารื้อถอน
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่า ระหว่างที่โจทก์กับนายสมใจ อยู่กินด้วยกันได้ก่อหนี้ขึ้นเป็นเงินหลายแสนบาท ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โจทก์จึงมอบสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้นายสมใจเพื่อนำไปชำระหนี้ เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้เลิกร้างกัน โจทก์ไปอาศัยมารดาอยู่ตั้งแต่ปี 2538 นายสมใจจึงได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยซื้อทรัพย์สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 250/2541 ของศาลชั้นต้น หลังจากซื้อทรัพย์แล้ว นายสมใจได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทได้จำเลย และจำเลยได้เข้าครอบครองตลอดมาขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์มานานกว่า 40 ปีแล้ว ผู้ร้องสอดได้สร้างบ้านเลขที่ 41 โรงเรือนสำหรับเลี้ยงสุกร โรงเก็บยางพาราและรั้วอิฐบล็อกคอนกรีตในที่ดินพิพาทผู้ร้องสอดได้อนุญาตให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรกับนายสมใจ เข้าไปอยู่ในบ้านดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอด เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านเลขที่ 41 พร้อมโรงเลี้ยงสุกร โรงเก็บยางพาราและรั้วอิฐบล็อก ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทนำออกขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลชั้นต้น โดยประกาศเงื่อนไขว่า ทรัพย์ที่ยึดตั้งอยู่บนที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ ผู้ซื้อโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างจะต้องรื้อถอนออกไปจากที่ดินจำเลยได้ซื้อทรัพย์ทั้งหมดจากการขายทอดตลาดได้ในราคา 200,000 บาท แล้วจำเลยและนายสมบูรณ์ สามีจำเลยพร้อมบริวารย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านเลขที่ 41 และครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ขอให้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดผู้มีสิทธิครอบครอง ให้โจทก์จำเลย และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 41 พร้อมโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่จำเลยซื้อได้จากการขายทอดตลอดออกไปจากที่ดินพิพาท และห้ามมิให้โจทก์จำเลย และบริวารเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า เมื่อปี 2531 ผู้ร้องสอดได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกคำร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไปนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิฎีกาหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า โจทกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี หลังจากนั้นจำเลยกับบริวารเข้ามาครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทอันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ ขอบังคับให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่า หลังจากจำเลยซื้อสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาด นายสมใจ อดีตสามีโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ในชั้นฎีกาคงมีแต่โจทก์และจำเลยที่ยังโต้เถียงกันว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเดือนละเท่าใด ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเรียกคู่ความมาสอบถามและตีราคาค่าเช่าที่ดินพิพาทว่ามีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ขณะที่ยื่นคำฟ้องเดือนละเท่าใดศาลชั้นต้นนัดโจทก์และจำเลยมาสอบถาม ปรากฏว่าโจทก์แถลงว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละประมาณ 5,000 บาท ส่วนจำเลยแถลงว่าอาจให้เช่าเดือนละ 11,000 บาท ศาลชั้นต้นจึงสอบถามเรื่องดังกล่าวจากผู้ใหญ่บ้าน กำนันและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปรากฎว่าบุคคลทั้งสองต่างแถลงต้องกันว่าที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเดือนละไม่เกิน 5,000 บาท จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ขณะยื่นคำฟ้องเดือนละไม่เกิน 5,000 บาท จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิใช่เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 นั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ระบุโดยชัดแจ้งว่ากระบวนพิจารณาของศาลใดไม่ถูกต้องหรือผิดระเบียบอย่างไรบ้าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ยกคำร้อง
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์และผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องและอุทธรณ์ เป็นการเสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์เกินกว่าที่โจทก์และผู้ร้องสอดควรจะเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์และผู้ร้องสอด”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์และผู้ร้องสอด และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share