คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8156/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนทำให้ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนเป็นที่ดินผืนใหญ่กว่า 20 ไร่ และ 50 ไร่สามารถใช้ประโยชน์แยกเป็นเอกเทศต่างหากจากกันได้ แต่ละส่วนมีด้านหนึ่งกว้างประมาณ 160 เมตร อยู่ติดทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้เจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดทางคู่ขนานและประชาชนโดยทั่วไปได้ใช้ทางคู่ขนานนี้สัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนจะอยู่ใกล้กับทางต่างระดับ แต่ก็อยู่ติดทางคู่ขนานที่เกือบเป็นทางตรง จึงสามารถเข้าสู่และออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนโดยใช้ทางคู่ขนานนี้ได้การคมนาคมเข้าสู่และออกจากที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนจะสะดวกกว่าเดิมมาก สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากเดิมมากเช่นนี้ย่อมทำให้ที่ดินดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากราคาประเมินฯ ที่ปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก กล่าวคือ บางส่วนจากตารางวาละ 800 บาท เป็น 10,000 บาท บางส่วนจากตารางวาละ2,500 บาท เป็น 4,500 บาท บางส่วนจากตารางวาละ 800 บาทเป็น 1,500 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน73.2 ตารางวา ส่วนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 81 ไร่ 2 งาน94.8 ตารางวา เทียบอัตราส่วนกันแล้วประมาณ 1 ต่อ 4.5 ดังนั้นแม้หากที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อยเพียง 1 ใน 4.5 ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนก็จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเสียอีกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นตารางวาละ 1,875 บาท โดยไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่แล้ว หากเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์อีกก็จะไม่เป็นธรรมแก่สังคม
โจทก์มิได้อุทธรณ์เรียกเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินทำสวนส้มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่งการอุทธรณ์เป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดจะต้องทำก่อนคดีมาสู่ศาล ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์เพิ่งเรียกร้องเงินค่าทดแทนในส่วนนี้มาพร้อมกับคำฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินทำสวนส้ม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 938เนื้อที่ 99 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา ถูกเวนคืนไปบางส่วน เนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน73.2 ตารางวา เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34(บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามตารางวาละ 800 บาท โจทก์ทั้งสามเห็นว่าเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีราคาที่ซื้อขายกันไม่ต่ำกว่าตารางวาละ10,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสามขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพียงตารางวาละ8,000 บาท เพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 7,200 บาท เป็นเงิน 51,647,040บาท และขอเงินค่าทดแทนความเสียหายจากการขาดรายได้หรือขาดประโยชน์จากการทำสวนส้มในที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ยังมิได้กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงินจำนวน6,480,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 58,127,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2538 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน 6,688,590.90 บาท รวมเป็นต้นเงิน และดอกเบี้ยทั้งสิ้น 64,815,630.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 64,815,630.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงิน 58,127,040 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามแล้วที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนได้รับประโยชน์จากการเวนคืนทำให้มีราคาสูงขึ้นมากหากเอาราคาที่สูงขึ้นนี้หักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 แล้ว จำเลยทั้งสองย่อมไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามอีกและจำเลยทั้งสองได้จ่ายเงินค่าทดแทนพืชผลไปแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินทำสวนส้ม อัตราดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่เพิ่มไม่ถึงร้อยละ 10ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 29,589,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามคำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 938 เนื้อที่ 99 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา บางส่วนของที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 73.2 ตารางวาอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ. 2536 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 2พฤศจิกายน 2536 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามตารางวาละ 800 บาท โจทก์ทั้งสามเห็นว่าเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 8,000 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดิน และเงินค่าทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินทำสวนส้ม ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ1,875 บาท และโจทก์ทั้งสามได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวทั้งหมดจากจำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสามได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นตารางวาละ 6,000 บาท และยกฟ้องในส่วนคำขอเงินค่าทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินทำสวนส้มศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า โจทก์ทั้งสามควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละเท่าใด จากรูปแผนที่และมาตราส่วนในสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 938 ภาพถ่ายบัญชีราคาประเมินที่ดินแผนผังแสดงเขตที่ดินที่ขออนุมัติและจ่ายเงินค่าทดแทน กับคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และนายชะโอด ชีกรรแสง ประธานสภาบึงคำพร้อย ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ พยานโจทก์ทั้งสาม นายสุทธิพงษ์ภาคพิบูลย์ นายช่างโยธา 6 ของจำเลยที่ 1 ผู้สำรวจที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืน และนายบุญธรรม เลาะไธสง หัวหน้างานนิติกรรมสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาลำลูกกา พยานจำเลยทั้งสอง ได้ความว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับที่ดินของโจทก์ทั้งสามกว้างด้านละประมาณ 160 เมตร ยาวด้านละประมาณ 996 เมตร สภาพส่วนใหญ่เป็นสวนส้มมีร่องสวนยาวในแนวเหนือใต้ ปลายด้านกว้างทางทิศตะวันตกติดถนนลูกรังเลียบคลองซอยที่ 5 ส่วนอีกสามด้านอยู่ติดที่ดินของบุคคลอื่น ที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน73.2 ตารางวา อยู่ห่างจากถนนเลียบคลองซอยที่ 5 ประมาณ 250 เมตรถึง 300 เมตร มีราคาประเมินที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2536 ถึง ปี 2538ตารางวาละ 800 บาท ทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 นี้ ผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสามจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือแบ่งที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนออกเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันออกเนื้อที่กว่า 50 ไร่มีด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ 160 เมตร อยู่ติดทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษสายนี้ อีกส่วนหนึ่งทางทิศตะวันตกเนื้อที่กว่า 20 ไร่ มีด้านกว้างแต่ละด้านกว้างประมาณ 160 เมตร โดยด้านทิศตะวันออกติดทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษสายนี้เช่นกัน ส่วนด้านทิศตะวันตกยังคงติดถนนเลียบคลองซอยที่ 5 ทางคู่ขนานทั้งสองข้างของทางหลวงพิเศษสายนี้ช่วงที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนเกือบเป็นทางตรงหลังจากการดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษสายนี้แล้วที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาประเมินที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2539 ถึง ปี 2542 เพิ่มสูงขึ้นจากราคาประเมินที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2536ถึง ปี 2538 โดยที่ดินที่อยู่ติดทางหลวงพิเศษหมายเลข .37 ระยะ 40 เมตรเพิ่มจากเดิมซึ่งมีราคาประเมินฯ ตารางวาละ 800 บาท เป็นตารางวาละ10,000 บาท และที่ดินที่อยู่ติดถนนเลียบคลองซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออกระยะ40 เมตร เพิ่มจากตารางวาละ 2,500 บาท เป็นตารางวาละ 4,500 บาทที่ดินนอกเหนือจากนั้นเพิ่มจากตารางวาละ 800 บาท เป็นตารางวาละ1,500 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนแต่ละส่วนเป็นที่ดินผืนใหญ่กว่า 20 ไร่ และ 50 ไร่ สามารถใช้ประโยชน์แยกเป็นเอกเทศต่างหากจากกันได้ แต่ละส่วนมีด้านหนึ่งกว้างประมาณ160 เมตร อยู่ติดทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษสายนี้ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้เจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดทางคู่ขนานและประชาชนโดยทั่วไปได้ใช้ทางคู่ขนานนี้สัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้ที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนจะอยู่ใกล้กับทางต่างระดับแต่ก็อยู่ติดทางคู่ขนานที่เกือบเป็นทางตรง จึงสามารถเข้าสู่และออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนโดยใช้ทางคู่ขนานนี้ได้ การคมนาคมเข้าสู่และออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนจะสะดวกกว่าเดิมมากสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากเดิมมากเช่นนี้ ย่อมทำให้ที่ดินดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมากเช่นกันดังจะเห็นได้จากราคาประเมินฯ ที่ปรับสูงขึ้นจากเดิมมากที่ดินของโจทก์ทั้งสามถูกเวนคืนเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 73.2 ตารางวาส่วนที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 81 ไร่ 2 งาน94.8 ตารางวา เทียบอัตราส่วนกันแล้วประมาณ 1 ต่อ 4.5 ดังนั้นแม้หากที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อยเพียง 1 ใน 4.5 ที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนก็จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนเสียอีก ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นตารางวาละ 1,875 บาท โดยไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน นับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามอยู่แล้วหากเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสามอีกก็จะไม่เป็นธรรมแก่สังคม ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นตารางวาละ 6,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินทำสวนส้มหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และสำเนาหนังสืออุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนฯ ของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามมิได้อุทธรณ์เรียกเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินทำสวนส้มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่งบัญญัติบังคับไว้ การอุทธรณ์เป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดจะต้องทำก่อนนำคดีมาสู่ศาล ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ทั้งสามเพิ่งเรียกร้องเงินค่าทดแทนในส่วนนี้มาพร้อมกับคำฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดิน โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินทำสวนส้มฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง

Share