คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทราบ เป็นทางปฏิบัติว่า ตำแหน่งโต๊ะอิหม่าม โต๊ะคอเต็บ และโต๊ะบิหลั่น เป็นนักบวชของศาสนาอิสลาม ตามความหมายใน พ.ร.บ. การเลือกตั้งฯ มาตรา 18(3)นั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยยังไม่มีการกระทำ ที่เกิดขึ้นกับตัวโจทก์แต่ประการใด การที่โจทก์เห็นว่าความเห็น ดังกล่าวของจำเลยเป็น การไม่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม ก็เป็นเรื่องในชั้น ที่มีการโต้แย้งกันในทางความเห็น จึงไม่อาจ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490ให้ดำรงตำแหน่งคอเต็บ มัสยิดอิดซ์ ฮาดร์ อูลูมุดดีน จำเลยได้ออกหนังสือสั่งการที่ 1057/2500 เรื่องคุณสมบัติของผู้เลือกตั้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยพิจารณาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่าน คอเต็บ และบิหลั่น เป็นนักบวชตามศาสนาอิสลาม จึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา 73 และคำสั่งนี้ก็ได้นำมาเป็นข้อบังคับมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่าน คอเต็บ และบิหลั่น ใช้สิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 17 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521มาตรา 93(3) จึงถือได้ว่าหนังสือสั่งการของจำเลยเป็นคำสั่งและข้อวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์(คอเต็บ) ผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่าน และบิหลั่น ไม่ใช่นักบวชหรือนักพรตจึงเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2521 ทั้งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ด้วย ขอให้พิพากษาเพิกถอนหนังสือสั่งการที่ 1057/2500 ลงวันที่ 19 มกราคม 2500 ของกระทรวงมหาดไทยและให้โจทก์ซึ่งเป็นคอเต็บ และผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่าม บิหลั่น เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2521 และตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมาย และโจทก์ไม่มีเหตุจะต้องใช้สิทธิทางศาลกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้วางแนวนโยบายแห่งรัฐให้แยกการเมืองออกจากศาสนา คำสั่งที่ 1057/2500 ลงวันที่ 19 มกราคม 2500 ของจำเลยจึงเป็นการชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 93(3)และมาตรา 96(3)
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นั้น เป็นการกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 หรือไม่ ได้พิจารณาข้อความตามหนังสือของจำเลยดังกล่าวแล้ว เป็นกรณีที่จำเลยมีความเห็นว่าตำแหน่งโต๊ะอิหม่ามโต๊ะคอเต็บ และโต๊ะบิหลั่น เป็นนักบวชของศาสนาอิสลาม ตามความหมายในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา18(3) และแจ้งความเห็นดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบเป็นทางปฏิบัติต่อไป ความเห็นของจำเลยดังกล่าวนั้นตามคำฟ้องของโจทก์ยังไม่มีการกระทำตามความเห็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับตัวโจทก์แต่ประการใด การที่โจทก์เห็นว่าความเห็นดังกล่าวของจำเลยเป็นการไม่ถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลาม ก็เป็นเรื่องในชั้นที่มีการโต้แย้งกันในทางความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า นักบวช ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา18(3) กรณีจึงเป็นเรื่องของการโต้แย้งกันในทางความคิดเห็นอันเป็นนามธรรมไม่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของจำเลยอันจะเป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์ได้เกิดมีขึ้นแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยมีความเห็นไปตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามความหมายที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง…”
พิพากษายืน.

Share