คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้แก่ผู้ฝากประจำระยะเวลา12 เดือน อัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปีนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ค้าเงินจ่ายให้แก่ผู้ฝากประจำ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกจากผู้กู้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาดสำหรับการให้กู้ยืมเงิน เมื่อปรากฏว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โดยเสียดอกเบี้ยอัตราสูงถึงร้อยละ 21 ต่อปีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะยอมให้บุคคลอื่นกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี โดยยอมขาดทุนดอกเบี้ยเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)โดยประเมินในอัตราเดียวกันกับดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องจ่ายให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ลดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์คงเหลือร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว
โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมกับชำระภาษีเงินได้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 และมาตรา 68 แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวว่าขาดทุนสุทธิเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตรงต่อความจริง จึงออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนและให้นำบัญชีเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์ไปมอบให้ด้วย การที่โจทก์หลีกเลี่ยงไม่นำบัญชีและเอกสารไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนและเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโดยคำนวณจากยอดกำไรสุทธิ แต่ต้องเสียโดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 จำนวนเงินค่าภาษีที่โจทก์ต้องเสียตามที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บเพิ่ม จึงเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งตามกฎหมายโจทก์จะต้องชำระอยู่แล้ว มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่ได้ขาดทุนตามที่ยื่นรายการไว้ ดังนั้น โจทก์จะอ้างนำเอาผลขาดทุนสุทธิที่แสดงไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้รับรองและโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ฟังได้ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิดังที่อ้างนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหาได้ไม่
โจทก์ได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินให้ไปยังที่ทำการเพื่อรับการไต่สวนและให้นำบัญชีเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไปส่งมอบด้วย แต่โจทก์ไม่นำบัญชีและเอกสารดังกล่าวไปมอบให้เจ้าพนักงานของจำเลยทำการไต่สวน เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามบทกฎหมายซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินด้วยวิธีดังกล่าวได้ เมื่อมิใช่เป็นการประเมินโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่า โจทก์มีผลขาดทุนสุทธิที่แตกต่างไปจากที่ได้ยื่นรายการไว้เดิมอันเจ้าพนักงานประเมินจะต้องมีคำสั่งแจ้งการประเมินเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิให้โจทก์ทราบตามมาตรา 20 แห่ง ป.รัษฎากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ
โจทก์ไม่มีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2528 มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2531 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงต้องปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของโจทก์ใหม่ ตามหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิเพื่อให้โจทก์นำไปปฏิบัติสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไปให้ถูกต้อง จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหนังสือดังกล่าว

Share