คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8154/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดทั้งสองข้อตามที่โจทก์อ้างถึงในฟ้องดังกล่าวเป็นการกระทำในวันเวลาเดียวกันและสถานที่เดียวกัน สินค้าและผลิตภัณฑ์ก็คือสินค้าและผลิตภัณฑ์เดียวกัน เพียงแต่ตามฟ้องข้อ (ก) กล่าวถึงตัวสินค้า ส่วนฟ้องข้อ (ข) กล่าวถึงหีบห่อที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าเพื่อบรรจุสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการขายสินค้าที่จะมีหีบห่อและบรรจุภัณฑ์มาพร้อมกัน คำบรรยายฟ้องลักษณะนี้จึงไม่ชัดเจนพอฟังว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมแยกออกต่างหากดังที่โจทก์ฟ้องแยกเป็นอีกข้อหาหนึ่งและขอให้ลงโทษหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และการที่จำเลยนำเครื่องหมายเดียวกันไปติดไว้ที่สิ่งห่อหุ้มสินค้าและที่สินค้าแล้วขายสินค้าไปในวันเวลาและสถานที่เดียวกัน ต้องถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวและไม่ถือว่าเป็นความผิดหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 110, 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และ 272 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ส่วนความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ของผู้อื่นไปใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 นั้น จำเลยไม่มีความผิดฐานนี้อีก เพราะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้เป็นความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่แล้ว
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 272 (1) อีก นั้น ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ในข้อ (ข) เกี่ยวกับความผิดฐานนี้นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ “SKF” และ “SKF” “NSK” และ “KOYO” มาใช้โดยการจัดทำและนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ดังกล่าวมาพิมพ์ติดแสดงทำให้ปรากฏที่กล่องกระดาษอันเป็นหีบห่อวัตถุที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าเพื่อบรรจุสินค้า สติกเกอร์อันเป็นจดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน และพลาสติกสำหรับทำบรรจุภัณฑ์ โดยเป็นการกระทำในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุเดียวกันกับความผิดในฟ้องข้อ (ก) เมื่อชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่โจทก์อ้างถึงในฟ้องข้อ (ข) ก็คือ “SKF” และ “SKF” “NSK” และ “KOYO” อันเป็นเครื่องหมายเดียวกับที่โจทก์อ้างว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วดังกล่าวในฟ้องข้อ (ก) และสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่โจทก์อ้างถึงในฟ้องข้อ (ข) ก็คือสินค้าและผลิตภัณฑ์เดียวกับที่อ้างในข้อ (ก) เพียงแต่ในฟ้องข้อ (ก) กล่าวถึงตัวสินค้า ส่วนฟ้องข้อ (ข) กล่าวถึงตัวหีบห่อวัตถุที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าเพื่อบรรจุสินค้า สติ๊กเกอร์อันเป็นจดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน และพลาสติกสำหรับทำบรรจุภัณฑ์ ตามคำฟ้องของโจทก์แสดงว่าชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่โจทก์อ้างในฟ้องข้อ 2 (ข) ก็คือเครื่องหมายเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่อ้างในฟ้องข้อ 2 (ก) เพียงแต่ใช้ให้ปรากฏที่หีบห่อ กับใช้ให้ปรากฏที่ตัวสินค้าเพื่อขายสินค้านี้ไปในคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการขายสินค้าที่จะมีหีบห่อและบรรจุภัณฑ์มาพร้อมกันด้วย ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงไม่ชัดเจนพอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเอา ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ ที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายที่แตกต่างออกไปจากเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วไปใช้แยกเป็นการกระทำความผิดต่างหากออกไปได้ดังที่โจทก์ฟ้องแยกเป็นอีกข้อหนึ่งและขอให้ลงโทษหลายบทหลายกรรมต่างกัน โดยมีคำขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดอีกฐานหนึ่งแยกต่างหากออกไปจึงชอบแล้ว ส่วนการที่จำเลยนำเครื่องหมายเดียวกันไปติดไว้ที่สิ่งห่อหุ้มสินค้าและติดไว้ที่สินค้าแล้วขายสินค้าไปในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุเดียวกัน นั้น ต้องถือเป็นการกระทำกรรมเดียวกันและไม่อาจถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทได้ด้วย เพราะตั้งแต่เมื่อตามมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้บัญญัติอันมีผลให้การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ อันเป็นเครื่องหมายเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนภายในราชอาณาจักรไปใช้กับสินค้าย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้โดยเฉพาะแล้ว การเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์เดียวกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วไปใช้กับสินค้าในลักษณะดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดที่ต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) อีกต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share