คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1660/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทคนละครึ่ง หากแบ่งไม่ตกลงให้ประมูลหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน นั้นย่อมหมายความว่า มรดกทุกชิ้นนั้น ถ้าเป็นทรัพย์แบ่งได้ก็ให้เอามากแบ่งกันคนละครึ่งเป็นชิ้น ๆ ไป ถ้าตกลงในการแบ่งเช่นนี้ไม่ได้ ก็ให้ประมูลระหว่างกันหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันหากทายาททั้งสองตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันนอกศาลเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะเป็นการยอมผ่อนผันให้แก่กันเพื่อระงับข้อพิพาท
ผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล โดยมิได้ขออนุญาตศาลก่อนหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนางสาวมยุรี อิศรเสนา ตามคำสั่งศาล ในขณะที่นางบุญชูเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนางสาวมยุรี ให้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนี้ขอแบ่งมรดกหม่อมหลวงยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้แบ่งมรดกตามบัญชีท้ายฟ้องให้แก่นางสาวมยุรีครึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ตกลงให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบงกันตามส่วน ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๙/๒๕๐๐ ต่อมานางบุญชูในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมกับนางศรีอุทัยจำเลยได้ทำความตกลงกันแบ่งทรัพย์มรดกหม่อมหลวงยิ่งศักดิ์ โดยลำพังนอกศาล ปรากฏตามบันทึกเรื่องแบ่งทรัพย์ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๐ โดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยประสงค์จะระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ซึ่งนางบุญชูจะกระทำโดยลำพังมิได้ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนตามมาตรา ๑๕๔๖ (๔) แต่นางบุญชูหาได้ขออนุญาตจากศาลไม่ ตามบันทึกข้อตกลงมิได้แบ่งครึ่งตามคำพิพากษา ทรัพย์ที่นางศรีอุทัยจำเลยได้ไปมีราคาสูง แต่เวลาแบ่งคิดราคาต่ำ ส่วนทรัพย์ที่นางสาวมยุรีรับไปไม่ค่อยมีราคา แต่ตั้งราคาไว้สูง เป็นการเสียเปรียบ ซึ่งนางสาวมยุรีก็ได้คัดค้านอยู่ตลอดเวลา จึงขอให้ศาลมีคำสั่งว่าสัญญาแบ่งทรัพย์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทำให้ผู้เยาว์เสียเปรียบ ทั้งได้กระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ผูกพันนางสาวมยุรีผู้เยาว์
จำเลยให้การต่อสู้ว่า การแบ่งได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยสุจริตทั้งสองฝ่าย ไม่มีการสมยอมได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด เป็นการแบ่งกันเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจรื้อฟื้นมาว่ากล่าวกันอีก
โจทก์จำเลยตกลงแถลงรับกันว่า บันทึกแบ่งทรัพย์และสัญญาประนีประนอมที่ศาลถูกต้อง โจทก์จำเลยจึงตกลงกันกะประเด็นข้อกฎหมาย ๒ ข้อ คือ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ กับบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์มีผลผูกพันผู้เยาว์หรือไม่
ศาลแพ่งเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง และบันทึกแบ่งทรัพย์เป็นสัญญาประนีประนอมทำให้นางสาวมยุรีเสียเปรียบ และนางบุญชูจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลอนุญาต จึงพิพากษาว่า บันทึกแบ่งทรัพย์ไม่มีผลบังคับและผูกพันนางสาวมยุรีผู้เยาว์แต่อย่างใด
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า บันทึกแบ่งทรัพย์ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะไม่มีข้อความตรงไหนเลยที่ได้กล่าวว่าเป็นการระงับข้อพิพาท
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ เมื่อศาลได้พิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งแดงที่ ๑๓๑๑/๒๔๙๘ ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของหม่อมหลวงยิ่งศักดิ์บิดาเด็กหญิงมยุรี ให้แก่เด็กหญิงมยุรีครึ่งหนึ่งนั้น เด็กย่อมมีกรรมสิทธิ์รวม คือเป็นเจ้าของรวมตามกฎหมายในทรัพย์มรดกทุกชิ้นนั้น คำพิพากษาที่ว่าให้จำเลยแบ่งให้ครึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ตกลงก็ให้ประมูลในระหว่างโจทก์จำเลย หรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนนั้น ย่อมหมายความว่า ในมรดกทุกชิ้นหรือที่ดินทุกแปลงนั้น ถ้าเป็นทรัพย์แบ่งได้ ก็ให้เอามาแบ่งกันคนละครึ่งเป็นชิ้น ๆ ไป ถ้าตกลงในการแบ่งเช่นว่านี้ไม่ได้ ก็ให้ประมูลระหว่างกัน หรือเอาออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกัน ด้วยเหตุนี้ การที่จำเลยกับนางบุญชูไม่ทำเช่นนั้น กลับทำบันทึกการแบ่งทรัพย์กันนอกศาลแบ่งกันเป็นอย่างอื่น จึงไม่เป็นการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามคำพิพากษา การตกลงกันเช่นนี้ จึงเป็นนิติกรรมที่ยอมผ่อนผันให้แก่กันเพื่อระงับข้อพิพาทที่กำลังมีอยู่ในการที่จะแบ่งทรัพย์แต่ละชิ้นนั้นออกเป็นคนละครึ่ง และทิ้งระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในภายหน้า เป็นนิติกรรมประนีประนอมยอมความโดยแท้
เมื่อนางบุญชูผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยนอกศาล โดยมิได้ขออนุญาตต่อศาลก่อน ดังที่บทบัญญัติ มาตรา ๑๕๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งบังคับไว้เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของเด็ก การกระทำของนางบุญชูจึงเป็นการใช้ไม่ได้ ทั้งนางสาวมยุรีผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ได้กระทำการคัดค้านอยู่ตลอดมา จำเลยจึงจะอ้างว่าไม่รู้เท่าถึงการณ์หรืออ้างว่าไม่รู้กฎหมายว่าต้องขออนุญาตศาลก่อนหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share