แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการแห่งเมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งได้ชี้ขาดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ ตามฟ้อง แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล เมื่อปรากฏว่า ในการติดต่อซื้อขายสินค้ารายพิพาทจำเลยและบริษัท ว. จำกัดได้ ลงชื่อในเอกสารว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อ รวมทั้งระบุข้อความให้เสนอข้อพิพาท ตามสัญญาให้อนุญาโตตุลาการแห่งเมืองฮัมบูร์ก วินิจฉัยไว้ด้วยเมื่อ จำเลยได้ร่วมลงชื่อในเอกสารดังกล่าวเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ จำเลย จึงต้องผูกพันในเนื้อความของเอกสารดังกล่าวต่อโจทก์ อีกทั้งเมื่อโจทก์แจ้งจำเลยว่าโจทก์ได้นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการแล้วจำเลย ได้ติดต่อกับโจทก์เรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตลอดและได้ส่ง คำแถลงเกี่ยวกับคดีไปยังอนุญาโตตุลาการเพื่อปฏิเสธความรับผิด การที่ ทางอนุญาโตตุลาการแจ้งให้จำเลยไปสู้คดี จำเลยมิได้ไปสู้คดีเพราะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายสูงมาก พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยจึงใช้บังคับได้ การที่คู่กรณีได้นำข้อพิพาทเสนอให้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยถูกต้องตามขั้นตอนและระเบียบของสมาคมสินค้า แห่งเมืองฮัมบูร์กและข้อความแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและ การใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์คฯ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จึงฟ้องร้องบังคับกันได้ในศาลไทย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว จึงเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งได้วินิจฉัยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ บทกฎหมายว่าด้วย การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222 อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ การที่จำเลยนำปัญหาข้อห้าม อุทธรณ์มาฎีกาจึงเป็นการฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,663,892.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงิน 1,272,673.87 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,663,892.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงิน 45,128.02 ดอลลาร์สหรัฐ(1,159,790.11 บาท) และของต้นเงิน 8,245.71 มาร์กเยอรมัน (112,883.76 บาท)นับจากวันฟ้อง (วันที่ 30 มกราคม 2532) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ตกลงซื้อสินค้าปลาทูน่าบรรจุกระป๋องจากจำเลย โดยผ่านนายหน้าในประเทศ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทรานส์โอเชี่ยนซัพพลายเออร์ส (ไทย) และนายหน้าต่างประเทศ คือ บริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด การซื้อขายสินค้าพิพาทมีเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีจำเลยและบริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด ลงนามในเอกสารดังกล่าว การซื้อขายมีปัญหาโต้แย้งกันโดยโจทก์อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะจำเลยได้ระบุชื่อแหล่งผลิตสินค้า คือ ประเทศไทย (THAILAND) ที่กล่องบรรจุสินค้า ซึ่งเป็นข้อห้ามในสัญญา และน้ำหนักปลาไม่ตรงตามสัญญา โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยโจทก์นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการแห่งเมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พิจารณาชี้ขาด อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนเงินในฟ้อง แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาล คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ เมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีชี้ขาดข้อพิพาทหรือไม่ โจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.5 เป็นพยาน ว่าเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย โดยมีข้อตกลงมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย สัญญาซื้อขายสินค้าเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความ (ที่ศาลกาดอกจันทร์)ไว้ว่า identical to Tran-Ocean’s contract No. 016/1984 and 020/1984และมีคำแปลว่า “เหมือนกับสัญญาเลขที่ 016/1984 และ 020/1984″ โดยโจทก์รับว่าสัญญาดังกล่าวคือ เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ซึ่งเป็นหนังสือยืนยันการขาย(confirmation of sales) ไปยังบริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด ลงนามโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดทรานส์โอเชี่ยนซัพพลายเออร์ส (ไทย) ในฐานะนายหน้าและจำเลยในฐานะผู้ขาย จำเลยฎีกาอ้างว่า เอกสารหมาย จ.5 จะต้องมีข้อความตรงกับเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เมื่อเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ไม่ปรากฏข้อความในการระบุมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา อีกทั้งจำเลยลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 เป็นเพราะจำเลยยอมรับค่านายหน้าร้อยละ 1 ที่จะให้แก่บริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด เท่านั้น เห็นว่าในการติดต่อซื้อขายสินค้ารายพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์มีเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขาย ตามเอกสารฉบับดังกล่าวจำเลยและบริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด ได้ลงชื่อไว้ และระบุในเอกสารว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อ รวมทั้งระบุข้อความให้เสนอข้อพิพาทตามสัญญาให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก วินิจฉัยไว้ด้วย เมื่อจำเลยได้ร่วมลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันในเนื้อความของเอกสารดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย จำเลยจะอ้างว่า การลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 เป็นเรื่องการตกลงระหว่างจำเลยกับบริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด ตกลงกันเรื่องอัตราค่านายหน้าเท่านั้นก็ดี หรือดังที่นางวนิดา พิบูลธนพัฒนา กรรมการจำเลยเบิกความอ้างว่าพยานได้ลงลายมือชื่อและประทับตราจำเลยลงในเอกสารหมาย จ.5 แต่พยานไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษและไม่เข้าใจเรื่องการอนุญาโตตุลาการเลยก็ดี เพื่อเป็นข้ออ้างปฏิเสธไม่ผูกพันตามข้อความที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 หาได้ไม่ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความตามคำเบิกความของนางวนิดาตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าเมื่อโจทก์แจ้งจำเลยว่า โจทก์ได้นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์กแล้ว จำเลยก็ได้ตอบไปเพียงว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา ซึ่งเจือรับกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำแปลเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ว่า จำเลยได้ติดต่อกับโจทก์เรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นมาตลอด และได้ส่งคำแถลงเกี่ยวกับคดีฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ไปยังอนุญาโตตุลาการเพื่อปฏิเสธความรับผิด นอกจากนี้จำเลยได้มีจดหมายถึงอนุญาโตตุลาการอีก เช่น จดหมายฉบับที่ 28 พฤษภาคม 2528 เพียงแต่จำเลยมิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีเท่านั้น ซึ่งข้อนี้ได้ความตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ของนางวนิดาว่า ทางอนุญาโตตุลาการแจ้งมายังจำเลยให้ไปสู้คดี แต่จำเลยเห็นว่าหากไปต่อสู้คดีค่าใช้จ่ายจะสูงมาก จึงมิได้ไปสู้คดีดังกล่าว จากพฤติการณ์ที่จำเลยลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีข้อความระบุให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก ต่อมาเมื่อเกิดข้อพิพาทแล้วจำเลยรับทราบถึงการที่โจทก์ได้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการมาโดยตลอด จำเลยมิได้โต้แย้งเลยว่า ได้มีการลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่มีเจตนาจะผูกพันในเรื่องอนุญาโตตุลาการ แต่กลับมีหนังสือโต้ตอบติดต่ออนุญาโตตุลาการหลายครั้ง ส่วนการที่จำเลยมิได้ต่อสู้คดีในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ก็หาได้มาจากเหตุผลว่าจำเลยไม่มีเจตนาผูกพันตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 โดยมีข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวว่า ถ้ามีข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายตามเอกสารฉบับดังกล่าว ให้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์กจริงดังฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใดจึงใช้บังคับกันได้การที่คู่กรณีได้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยถูกต้องตามขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก และข้อความแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงฟ้องร้องบังคับกันได้ในศาลไทย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว หากคู่ความจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องพิจารณาจากบทกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์คำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 อันเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ บทกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นไปตามความในมาตรา 222 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าบริษัทเวอร์เนอร์ เฟาสท์ จำกัด เป็นตัวแทนของโจทก์หรือไม่ก็ดี โจทก์ให้สัตยาบันสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 หรือไม่ก็ดี จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ก็ดี หรืออนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดครบประเด็นหรือไม่ก็ดี ต่างเป็นข้ออุทธรณ์ที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 222 ดังกล่าวอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ การที่จำเลยนำปัญหาข้อห้ามอุทธรณ์มาฎีกาจึงเป็นการฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน