คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงร่วมกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์และโจทก์แก้อุทธรณ์ในประเด็นอื่นดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นการเพิ่มจำนวนหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิด และเปลี่ยนประเภทหนี้ เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และตกลงที่จะผูกพันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้เดิม คือ หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 16 ฉบับ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระหนี้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 90,303,015.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 70,706,804.46 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 71,438,827.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 66,250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 38,603,924.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 35,800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 10,783,219.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิจากการขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยที่ 4 ถูกฟ้องล้มละลายและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางคดีหมายเลขแดงที่ 2608/2546 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความชั่วคราว
ต่อมา วันที่ 12 กรกฎาคม 2547 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 โดยเหตุว่าจำเลยที่ 5 ได้นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ 5,000,000 บาท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 5 และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ โจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารที่แต่ละฝ่ายยื่นต่อศาลและขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เพียงประเด็นเดียวว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 หากมิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างแถลงไม่สืบพยาน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 90,303,015.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 70,706,804.46 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงินจำนวน 71,438,827.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 66,250,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันเพราะได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเพียงเพื่อรับรองฐานะของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทราบดีว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้มาตั้งแต่แรก สัญญาค้ำประกันจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย และที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยตกลงว่าการผ่อนเวลาชำระหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ การลดหนี้ การประนีประนอมยอมความ หากโจทก์จะพึงมีกับจำเลยที่ 1 โดยจะแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมในการนั้นด้วยทุกกรณี จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงร่วมกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 หากมิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์และโจทก์แก้อุทธรณ์ในประเด็นอื่นดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีข้อความสรุปได้ว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และบริษัทสยามคอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ฝ่ายหนึ่งกับโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยคู่กรณีตกลงให้นำหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 16 ฉบับ ต้นเงิน 71,546,104.46 บาท ดอกเบี้ย 20,180,880.50 บาท รวมเป็นเงิน 91,726,984.96 บาท และภาระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือยินยอมชดใช้ความเสียหายตามการออกหนังสือค้ำประกันฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2540 จำนวน 481,800 บาท รวมเข้ากับหนี้ของบริษัทสยามคอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 17 ฉบับ ต้นเงิน 32,646,748.80 บาท ดอกเบี้ย 9,129,648.29 บาท รวมเป็นเงิน 41,776,397.09 บาท รวมภาระหนี้ของลูกหนี้ทั้งสองรายตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 33 ฉบับ เป็นต้นเงิน 104,192,853.26 บาท ดอกเบี้ย 29,310,528.79 บาท กับภาระหนี้การออกหนังสือค้ำประกัน 481,800 บาท รวมเป็นเงิน 133,985,182.05 บาท แล้วกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ทั้งในส่วนของต้นเงินและดอกเบี้ย เฉพาะหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในส่วนของต้นเงินที่ลูกหนี้แต่ละรายค้างชำระตกลงให้เปลี่ยนประเภทหนี้เป็นหนี้เงินกู้ระยะยาววงเงินรวมกัน 104,192,853.26 บาท โดยถือเป็นหนี้รายเดียวกันซึ่งลูกหนี้ทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดผ่อนชำระคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา MLR ต่อปี โดยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนทุกเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนธันวาคม 2554 ภายใต้เงื่อนไขจำนวนต้นเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือนตามที่กำหนดไว้กับดอกเบี้ยต่างหาก โดยมิได้แยกสัดส่วนความรับผิดของลูกหนี้แต่ละราย ทั้งสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวข้อ 6 ยังกำหนดว่า “ถ้าลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ลูกหนี้ยอมให้ธนาคารนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวทบเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ต่อไปในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคาร” เห็นได้ชัดว่าเป็นการเพิ่มจำนวนหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิด และเปลี่ยนประเภทหนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และตกลงที่จะผูกพันกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้เดิมคือหนี้ตามสัญญา ทรัสต์รีซีททั้ง 16 ฉบับ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 90,303,015.96 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของโจทก์จากต้นเงิน 70,706,804.46 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอโดยให้นำเงินจำนวน 5,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 5 ชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 เข้าหักชำระหนี้ในวันดังกล่าวด้วย โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อนเหลือเพียงใดให้หักชำระต้นเงิน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share