คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ฐานฆ่าผู้อื่น ให้ประหารชีวิตและฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุกคนละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ความผิดฐาน ทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายจึงต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะความผิด ฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้พาผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวไป และการที่ผู้ตายถูกฆ่าเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานทำให้ผู้อื่น ปราศจากเสรีภาพในร่างกายของจำเลยทั้งสองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 เพราะเป็น ข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งรับราชการเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแม มีอาวุธปืนสั้นเป็นอาวุธได้ร่วมกันฉุด ลากตัวนายดำ ชัยวรรณ ขึ้นรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-1514 ชุมพร แล้วคุมตัวหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ทำให้นายดำปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต่อมาหลังเกิดเหตุระหว่างที่ควบคุมตัวนายดำไว้ จำเลยทั้งสองใช้ของแข็งทุบตีกระแทกที่บริเวณหลังและลำตัวนายดำหลายครั้งจนกระดูกสันหลังแตก แล้วใช้ของแข็งมีคมตัดฟันคอนายดำจนศีรษะขาดเป็นเหตุให้นายดำถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 310, 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางหิ้น ชัยวรรณ มารดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 310 วรรคแรกประกอบ มาตรา 83 รวมสองกระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นให้ประหารชีวิตฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายจำคุก 1 ปี เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่นำโทษจำคุกมารวมอีกคงให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คงมีปัญหามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายพานายดำ ชัยวรรณ ผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวไป ต่อมามีผู้พบศพผู้ตายอยู่ในสวนปาล์มของนายสิงโต ประไพพานิช ที่ตำบลทรายทองอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าผู้ตายตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวเห็นสมควรพิจารณาก่อนว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้พาผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวไปหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางลั่นทม ศิรินุพงศ์ ภริยาผู้ตายเบิกความว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2537 เวลาประมาณ20 นาฬิกา นายวาสนา เรืองแก้ว มาชวนนายดำ ชัยวรรณผู้ตายไปดูภาพยนต์ ที่บ้านกำนันเฉลิม บุญมาก ต่อมาเวลาประมาณ4 นาฬิกา ของวันใหม่ พยานทราบจากนายวาสนา นายอุดม ขุนเปีย นายทวี เศรษฐชนะ นายเสรี ศิรินุพงศ์ นายคัมภีร์ ศิรินุพงศ์ และนายนิคมเพื่อนผู้ตายว่า หลังจากนายวาสนาชวนผู้ตายไปดูภาพยนตร์ ปรากฏว่าภาพยนตร์ยังไม่ฉาย ผู้ตายกับพวกดังกล่าวได้ไปดื่มสุราที่ร้านอาหารริมทะเลอำเภอละแม หลังจากดื่มสุราเสร็จแล้วก็พากันกลับบ้านโดยใช้รถจักรยานยนต์ 3 คัน เป็นยานพาหนะขับผ่านสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแม มีรถยนต์กระบะสีขาวหมายเลขทะเบียน บ-1514 ชุมพร แล่นตามหลังมาเบียดรถจักรยานยนต์คันที่นายวาสนาขับซึ่งมีผู้ตายนั่งซ้อนท้ายจนรถจักรยานยนต์ล้ม แล้วมีเสียงปืนดัง 1 นัด จากนั้นก็มีเจ้าพนักงานตำรวจลงจากรถยนต์คันดังกล่าว 2 คนพาผู้ตายขึ้นรถไป พยานจึงไปแจ้งความเมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกาตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 เมื่อพิจารณาเอกสารฉบับดังกล่าวแล้วได้ความว่า ขณะที่ผู้ตายกับพวกขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านได้ถูกรถยนต์กระบะสีขาวไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเบียดจนรถเสียหลักล้ม และพวกผู้ตายได้ยินเสียงปืนดัง จึงวิ่งหนี และไม่ทราบว่าผู้ตายไปอยู่ที่ไหน ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อความที่พยานแจ้งไม่มีรายละเอียดว่าเจ้าพนักงานตำรวจพาผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวไป และตอนที่พยานแจ้งก็ไม่ได้ระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะสีขาวไว้ด้วยนอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางลั่นทมอีกว่าเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2537 พยานกับพวกดังกล่าวได้ไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอละแม เห็นเจ้าพนักงานตำรวจ 2 คน เดินเข้ามาในสถานีตำรวจ นายวาสนากับพวกจำได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจ 2 คน นั้นคือผู้ที่พาผู้ตายไปในคืนเกิดเหตุพยานจึงแจ้งให้สารวัตรใหญ่ทราบ สารวัตรใหญ่จึงสั่งให้จับเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองไว้ใช่จำเลยทั้งสองนี้ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 และต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2537 พยานแจ้งความยืนยันให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 แต่เมื่อพิจารณาเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า พยานแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าพยานเป็นผู้สืบทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จับผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวของจำเลยที่ 1 ไปหาใช่นายวาสนากับพวกเป็นผู้บอกแก่พยานไม่ ประกอบกับพยานปากนี้ให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแมหลายครั้ง ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมายล.7 โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2537 พยานให้การว่าทราบจากนายวาสนาว่าขณะที่นายวาสนาขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปสี่แยกทุ่งสวรรค์โดยมีผู้ตายนั่งซ้อนท้าย ได้ถูกรถยนต์กระบะสีขาวไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเบียด จากนั้นได้ยินเสียงปืนดัง 1 นัด หลังจากทราบเหตุพยานได้ออกติดตามผู้ตายแต่ไม่พบ และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2537 พยานให้การเพิ่มเติมว่า ผู้ที่จับผู้ตายไปคือจำเลยที่ 1 กับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแมที่มีชื่อเล่นว่าเสือ จะเห็นได้ว่าคำให้การของพยานดังกล่าวขัดกับคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาในข้อสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของคนร้าย และที่พยานให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย ล.8 ว่า ชายที่นั่งมาในรถทราบภายหลังว่าคือจำเลยทั้งสอง ได้ลงจาก รถยนต์กระบะสีขาวไม่ทราบหมายเลขทะเบียน แล้วใช้อาวุธปืนยิงมาที่รถจักรยานยนต์ของนายวาสนาแต่ไม่ถูกผู้ใดนั้นก็ขัดกับที่พยานเคยให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแมครั้งแรก เพราะตอนให้การครั้งแรกพยานไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะร้อยตำรวจโทณรงค์ เหล่าปทุมวิโรจน์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ขณะแจ้งความนางลั่นทมไม่ได้ระบุชื่อคนร้ายหรือรถยนต์ที่พาผู้ตายไปสอบถามพวกผู้ตายที่ขับรถจักรยานยนต์ตามกันมาก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้าย ทั้งจำหมายเลขทะเบียนรถยนต์ไม่ได้ด้วยคำเบิกความของนางลั่นทมจึงเป็นพิรุธรับฟังไม่ได้ ส่วนที่นายวาสนาพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์โดยมีผู้ตายนั่งซ้อนท้ายหลังจากที่รถยนต์กระบะสีขาวเบียดรถจักรยานยนต์ของพยานล้ม จำเลยที่ 1 ได้ลงจากรถแล้วยิงปืนมาที่พยานและผู้ตาย 1 นัด พยานจำจำเลยที่ 1 ได้ เพราะมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าขนาด 40 แรงเทียน ประมาณ 2 ถึง 3 หลอด ที่หน้าร้านค้าใกล้เคียงส่องมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 2 ถึง 3 วา พยานวิ่งหนีไปพร้อมกับผู้ตายได้ประมาณ 2 ถึง 3 เมตร เห็นผู้ตายหยุดวิ่งพยานคงวิ่งต่อไปและหันไปดูเห็นผู้ตายยกมือไหว้ จำเลยทั้งสองแล้วพยานวิ่งต่อไปด้วยความกลัวจนถึงบริเวณที่รถจักรยานยนต์ของนายอุดมล้มและเห็นนายอุดมยกรถจักรยานยนต์ที่ล้มขึ้นมาโดยมีนายเสรีกับนายทวียืนอยู่ พยานบอกให้นายอุดมรีบไปหาผู้ตาย แล้วพยานขับรถจักรยานยนต์ของนายอุดมโดยมีนายเสรีนั่งซ้อนท้ายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอละแม แล้วกลับไปที่เกิดเหตุพร้อมกับหมวดณรงค์และเจ้าพนักงานตำรวจอีกคนหนึ่งขณะที่ออกมาถึงถนนหน้าที่ว่าการอำเภอพยานเห็นรถยนต์กระบะสีขาวแล่นผ่านมามองเห็นทะเบียนรถยนต์จำได้ว่า หมายเลข บ-1514 แต่จังหวัดจำไม่ได้ จึงบอกหมวดณรงค์ว่าใช่รถที่มีคนลงมายิงพยานเหตุที่พยานจำได้เพราะพยานเห็นตั้งแต่ขณะที่รถยนต์กระบะสีขาวดังกล่าวเบียดรถของนายอุดมล้ม แต่พยานดังกล่าวให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแมครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2537 ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน เอกสารหมาย ล.1 ว่า เมื่อรถยนต์กระบะสีขาวเบียดรถจักรยานยนต์ของพยานล้ม พยานได้ยินเสียงปืนดัง 1 นัด และเห็นคนประมาณ 5 ถึง 6 คน ยืนอยู่ เข้าใจว่าเป็นพวกที่มากับรถยนต์กระบะสีขาวและรถยนต์สีน้ำเงินออกดำซึ่งแล่นตามหลังมา พยานกับนายเสรีจึงขับรถจักรยานยนต์ไปตามเจ้าพนักงานตำรวจแล้วย้อนมาที่เกิดเหตุ พยานไม่เห็นผู้ตายแล้ว ดังนี้ จะเห็นได้ว่าในทันใดหลังเกิดเหตุพยานไม่เคยแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบเลยว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้พาผู้ตายไป และรถยนต์กระบะสีขาวมีหมายเลขทะเบียนอะไร ครั้นพยานให้การครั้งที่สองต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย ล.2 พยานเพิ่งจะให้การถึงหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะสีขาวและให้การว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในรถยนต์กระบะสีขาว โดยยังมีชายอีก 2 คน ไม่ทราบชื่ออยู่ในรถด้วย และไม่ทราบว่าใครเป็นคนขับรถ นอกจากนี้พยานก็ไม่ได้ให้การยืนยันว่าจำเลยทั้งสองคนไหนกระทำต่อผู้ตายอย่างไรบ้าง ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานเห็นผู้ตายยกมือไหว้จำเลยทั้งสองดังที่พยานเบิกความไว้ในชั้นพิจารณาแต่อย่างใดและพยานเพิ่งจะให้การครั้งที่สามต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 ยืนยันว่าผู้ที่ใช้อาวุธปืนไล่ยิงพยานกับผู้ตายคือจำเลยที่ 1 แต่เป็นการให้การตอบคำถามในลักษณะที่เป็นคำถามนำของพนักงานสอบสวนที่ถามว่าชายที่ใช้อาวุธปืนไล่ยิงพยานกับผู้ตาย พยานทราบได้อย่างไรว่าคือจำเลยทั้งสอง ดังนี้ จะเห็นว่าพยานปากนี้ให้การพาดพิงถึงจำเลยทั้งสองภายหลังจากที่มีการสอบสวนเพิ่มเติมแล้วและคดีนี้มีการประท้วงจากประชาชนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองทั้งขัดกับคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณา ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน พยานกำลังตกใจและอยู่ในภาวะอันตรายเพราะพยานกับผู้ตายถูกไล่ยิง พยานไม่น่าจะมีโอกาสสังเกตจดจำหน้าคนร้ายและหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะสีขาวได้ คำเบิกความของนายวาสนาจึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นความจริงสำหรับนายอุดม ขุนเปีย พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่มาเบิกความว่าหลังจากที่รถเบียดกันแล้ว มีเสียงปืนดัง 1 นัด พยานแอบดูเหตุการณ์อยู่ที่ลังไม้ริมถนนตรงข้ามกับที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายหมาย จ.9 และ จ.10 เห็นจำเลยทั้งสองพาผู้ตายเข้าไปในรถยนต์กระบะสีขาว เมื่อรถยนต์กระบะสีขาวแล่นไปแล้วก็มีเสียงปืนดังอีก 1 นัด นั้น เห็นว่าพยานปากนี้เคยให้การต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแมครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2537 ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย ล.3 ว่าพยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงและเป็นคนขับรถยนต์กระบะสีขาวดังกล่าว ทั้งไม่ได้ให้การถึงจำเลยทั้งสองและหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะสีขาวดังกล่าว พยานเพิ่งจะมาให้การถึงจำเลยทั้งสองตอนที่พยานให้การครั้งที่สองต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 ว่าจำเลยทั้งสองและชายอีกสองคนไม่ทราบชื่อได้จับผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวหมายเลขทะเบียน บ-1514 ชุมพร ไปตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย ล.4 จะเห็นได้ว่าหากพยานจำจำเลยทั้งสองและจำหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะสีขาวได้แล้ว พยานน่าจะให้การยืนยันมาตั้งแต่ต้นยิ่งกว่านั้นที่พยานเบิกความว่า พยานแอบดูเหตุการณ์อยู่ที่ลังไม้ตามภาพถ่ายหมาย จ.9 และ จ.10 ซึ่งพันตำรวจโทประยูร ครุฑมุสิก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดทำภาพถ่ายประกอบคดีขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 นั้น ปรากฏว่าพันตำรวจโทประยูรเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ลังไม้ที่พยานไปแอบซุ่มดูอยู่จะเป็นของผู้ใด และจะมาวางไว้เมื่อใดไม่ได้สอบสวนไว้ ทั้งร้อยตำรวจโทณรงค์ผู้ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.6 ก็ไม่ได้บันทึกเกี่ยวกับลังไม้ที่พยานซุ่มดูไว้ในแผนที่ดังกล่าว คำเบิกความของนายอุดมจึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ และที่นายทวีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า พยานกับนายอุดมแอบดูเหตุการณ์อยู่ที่ลังไม้ เห็นผู้ตายคุยกับจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองพาผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวไป พยานกับนายอุดมออกมาจากที่ซ่อนเห็นหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะสีขาวด้วยนั้น ปรากฏว่าพยานกลับเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าที่พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแม พยานไม่ได้บอกชื่อคนร้ายและหมายเลขทะเบียนรถของคนร้ายกับตำแหน่งที่ซ่อนตัวตรงลังไม้ เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้ถามโดยพยานปากนี้ให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอละแม เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2537 ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมายล.5 ว่า พยานจำหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะสีขาว ไม่ได้เพราะไม่ได้ดู และไม่ทราบว่าใครเป็นคนขับรถยนต์คันดังกล่าวครั้นต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 พยานให้การเพิ่มเติมต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามว่า พยานเห็นจำเลยทั้งสองคุยกับผู้ตาย เห็นว่าหากพยานเห็นจำเลยทั้งสองคุยกับผู้ตายจริงพยานน่าจะให้การยืนยันเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น คำเบิกความของนายทวีจึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อเช่นกัน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมนอกจากนี้ยังมีนายคัมภีร์ ศิรินุพงศ์ และนายนิคม เอียดหนู ซึ่งมาเบิกความได้ความเพียงว่าคืนเกิดเหตุพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ยินเสียงปืนดังเท่านั้น พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวมิได้รู้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำต่อผู้ตายอย่างไรประกอบกับจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธตลอดมา ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้พาผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะสีขาวไปและการที่ผู้ตายถูกฆ่าเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เมื่อพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองฆ่าผู้ตาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายของจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share