คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีความว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายแล้วขอยกทรัพย์สมบัติให้แก่ ร. และส. โดยให้คนละครึ่งเท่าๆ กันผู้อื่นจะเรียกร้องขอแบ่งปันทรัพย์ของตนไม่ได้ ปรากฏว่า ร. ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกให้ ร. จึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบกับมาตรา 1620 วรรคสอง คือเมื่อเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรม ก็ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก
การรับมรดกแทนที่มาตรา 1642 ให้ใช้แต่เฉพาะในระหว่างทายาทโดยธรรม ไม่รวมถึงผู้รับพินัยกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางโป๊ได้ทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 1 และนางระเบียบมารดาโจทก์ที่ 2 ให้ได้รับคนละครึ่งนางระเบียบตาย โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรนางระเบียบ และเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกนางระเบียบคนละครึ่งตามพินัยกรรม โดยโจทก์ที่ 2 เข้ารับมรดกแทนที่นางระเบียบ จึงขอให้ศาลแสดงว่าทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 1 ทั้งหมดเป็นของโจทก์ทั้งสอง หรือเป็นของโจทก์ที่ 1โดยจำเลยไม่มีสิทธิมาเกี่ยวข้อง ถ้าหากจำเลยมีส่วน ก็ขอให้กองมรดกใช้เงินค่ารักษาพยาบาลนางโป๊ กับค่าใช้จ่ายในการศพ จำเลยให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมของนางโป๊ อันควรรับมรดกของนางโป๊ หากนางโป๊ทำพินัยกรรมจริง สิทธิของนางระเบียบก็สิ้นสุดลงแล้วทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมคือ จำเลยทั้งสอง ค่าใช้จ่ายตามบัญชีหมายเลข 3 ฟุ่มเฟือยเกินฐานะ จำเลยไม่จำต้องรับผิดชอบ จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ส่งทรัพย์มรดกรายนี้มาจัดการแบ่งให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าทรัพย์มรดกของนางโป๊ตามพินัยกรรมตกได้แก่โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองฝ่ายละครึ่ง โดยให้หักจากเงินที่จารนัยมาในฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมของนางโป๊มีความว่า “เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว บรรดาทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้ามีอยู่มากน้อยเท่าใด ขอยกให้เป็นสิทธิแก่นางสาวระเบียบ นางสาวเสงี่ยมบุตรีนายเป๋า ศุนาคมสามีข้าพเจ้าทั้งสิ้นโดยให้คนละครึ่งเท่า ๆ กันผู้อื่นนอกจากนางสาวระเบียบนางสาวเสงี่ยมจะเรียกร้องแบ่งทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าไม่ได้เป็นอันขาด” นางระเบียบได้ถึงแก่ความตายก่อนนางโป๊ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกให้นางสาวระเบียบเป็นอันตกไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 กับมาตรา 1620 วรรค 2 คือเมื่อนางโป๊ตาย มีทายาทโดยธรรม ก็ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนางโป๊ ที่พินัยกรรมกล่าวไว้ว่า ผู้อื่นนอกจากนางสาวระเบียบนางสาวเสงี่ยม จะเรียกร้องขอแบ่งไม่ได้นั้นนางโป๊จะจำกัดไว้เช่นนี้ ก็หมายถึงกรณีที่มีตัวนางสาวระเบียบ นางสาวเสงี่ยมรับมรดกอยู่ หากประสงค์จะตัดทายาทโดยธรรมอื่น ๆ ของนางโป๊ไปเสียทีเดียว ไม่ให้ใช้มาตรา 1699, 1620 วรรค 2 แล้ว นางโป๊จะต้องกล่าวไว้ในพินัยกรรมให้ได้ความชัดเจนเช่นนั้น มิฉะนั้นก็ต้องนำบทบัญญัติของสองมาตรานี้ อันเป็นบทบัญญัติที่มีไว้สำหรับบังคับในกรณีมรดกมีพินัยกรรมขึ้นบังคับ ไม่มีทางคิดเลยว่า ส่วนของนางสาวระเบียบจะตกได้แก่ทายาทของนางสาวระเบียบหรือนางสาวเสงี่ยม เพราะการรับมรดกแทนที่ ตามมาตรา 1642 ให้ใช้ได้เฉพาะในระหว่างทายาทโดยธรรม ไม่รวมถึง ผู้รับพินัยกรรม

พิพากษายืน

Share