คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141-8145/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น ยิงปืนโดยใช่เหตุ และใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ก็มิใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ฆ่าผู้ตาย ความผิดข้อหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยเปิดเผย จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่อาจฎีกาได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และพิพากษาว่าเป็นคนละกรรมกับฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ เป็นการแก้บทกำหนดโทษ ปรับบทความผิดและพิพากษาแก้เป็นคนละกรรมกัน เป็นเพียงการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้จำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 5
ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ตามมาตรา 376 มีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่อเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผยแม้จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาต้องห้ามตามกฎหมาย และจำเลยที่ 8 มิได้ฎีกา แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 ร่วมกระทำความผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 มิได้ถืออาวุธปืน พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 2 จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 กระทำความผิดหรือไม่ เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 และที่ 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบมาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวแม้คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จะต้องห้ามฎีกา และจำเลยที่ 8 ไม่ได้ฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 กระทำความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 และมาตรา 185 ทั้งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 8 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ร่วมกันมีอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพื่อความประสงค์อันเดียวกันและร่วมกันใช้อาวุธปืนต่อเนื่องจากการร่วมกันมีอาวุธปืน ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 และเป็นกรรมเดียวกับฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และแม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 5 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตามกฎหมายและอนุญาตให้จำเลยที่ 9 ถอนฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 5 และที่ 9 ได้ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 และ 225
เมื่อจำเลยที่ 9 ยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 ย่อมเป็นที่สุดนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งโดยปกติจะย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา จึงไม่อาจออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดย้อนหลังไปถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 9 ฟังตามที่จำเลยที่ 9 ขอได้ ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 9 นับแต่วันยื่นคำร้องนี้

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งห้าสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 6 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนที่สี่ว่า จำเลยที่ 10 ที่ 11 และเรียกจำเลยในสำนวนที่ห้าว่า จำเลยที่ 12 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องจำเลยทั้งห้าสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 92, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ริบของกลางทั้งหมดที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และที่ 12
จำเลยทั้งสิบสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 12 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น ยิงปืนโดยใช่เหตุ และฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 คนละ 4 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 คนละ 2 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษ จำเลยที่ 2 และที่ 12 ได้ จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ ริบของกลางทั้งหมดที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 11
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ไม่อุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามมาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคสาม จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา พิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้จำเลยที่ 9 ถอนฎีกา จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 9 เสียจากสารบบความศาลฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ 9 ขอให้มีคำสั่งให้คดีถึงที่สุดในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 9 ฟังนั้น เมื่อจำเลยที่ 9 ยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 ย่อมเป็นที่สุดนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งโดยปกติจะย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา จึงไม่อาจออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดย้อนหลังไปถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 9 ฟัง ตามที่จำเลยที่ 9 ร้องขอได้ ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 9 นับแต่วันที่ยื่นคำร้องนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 17 ถึง 19 นาฬิกา ขณะที่ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ตลอดริมสองฝั่งถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมทั้งปากซอยอินทามระ 23 และ 25 ด้วย มีกลุ่มคนร้ายหลายคนร่วมกันมีและพาอาวุธปืนสั้นและอาวุธปืนยาวหลายชนิด เดินจากปากซอยอินทามระ 23 ไปยังปากซอยอินทามระ 25 ระหว่างเดินใช้อาวุธปืนที่มีและพาดังกล่าวยิงขึ้นท้องฟ้าหลายนัด เมื่อถึงปากซอยอินทามระ 25 แล้ว กลุ่มคนร้ายหยุดเดินและใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในซอยอินทามระ 25 กระสุนปืนถูกนายแจ๊ค และนายศรันย์ เป็นเหตุให้นายแจ๊คถึงแก่ความตายและนายศรันย์ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืน กระสุนปืนและหัวกระสุนปืนหลายชนิดตกอยู่บนถนนระหว่างซอยอินทามระ 23 ถึง 25 เป็นปลอกกระสุนปืนจำนวน 30 ปลอก กระสุนปืน 2 นัด และหัวกระสุนปืน 3 หัว ซึ่งจากจุดที่ผู้ตายและผู้เสียหายถูกยิงในซอยอินทามระ 25 ห่างจากซอยอินทามระ 23 ประมาณ 41.5 เมตร ลักษณะปลอกกระสุนกระจายอยู่ระหว่างซอยอินทามระ 23 ถึง 25 บริเวณร้านอาหารข้างถนนในซอยอินทามระ 25 จากปากซอยเข้าไปประมาณ 10 เมตร จะมีกองเลือดบริเวณที่ผู้ตายและผู้เสียหายถูกยิง และเคาน์เตอร์ร้านอาหารดังกล่าวมีรอยกระสุนปืนตามภาพถ่ายที่ 52 และ 53 ท้ายหนังสือเรื่องแจ้งผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุเกี่ยวกับชีวิต จึงยึดปลอกกระสุนปืน กระสุนปืนและหัวกระสุนปืนเป็นของกลาง และส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าเป็นกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) ใช้ยิงมาจากอาวุธปืน ขนาด .45 (11 มม.) กระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. ใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ กระสุนปืนเล็กกล ขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) ปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. และปลอกกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 เป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ นายทะเบียนอาวุธปืนตรวจสอบการได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของจำเลยทั้งสิบสองแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบสองไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ในส่วนของจำเลยที่ 11 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 8 ยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นไม่รับเป็นฎีกา และจำเลยที่ 8 มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 8 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น ยิงปืนโดยใช่เหตุ และใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5 ตลอดชีวิต และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดดังกล่าว และแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม และพิพากษาว่าความผิดดังกล่าวเป็นคนละกรรมกับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ฆ่าผู้ตาย คดีสำหรับความผิดในข้อหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 จึงถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันใช้ปืนยิงโดยใช่เหตุ ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่อาจฎีกาได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนที่ใช้กระทำผิดมาเป็นของกลาง จึงฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ว่าเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม และพิพากษาแก้ว่าเป็นคนละกรรมกับฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้พิพากษายืน คงจำคุกคนละ 4 ปี เป็นการแก้บทกำหนดโทษปรับบทความผิดและพิพากษาแก้เป็นคนละกรรมกันนั้น เป็นการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 5 สำหรับจำเลยที่ 12 ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่ามีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 นั้น ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 10 และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผยสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย จำคุกคนละ 2 ปี และความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ กับฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์เพียงแต่พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยดังวินิจฉัยมาแล้ว และยังคงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 10 ร่วมกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุและฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ตามฟ้อง และจำเลยที่ 12 ร่วมกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 หรือไม่ เห็นว่า ในวันดังกล่าวเป็นเทศกาลเล่นน้ำสงกรานต์ที่ประชาชนมาเล่นน้ำในบริเวณปากซอยอินทามระ 23 ถึง 25 จำนวนมาก คนร้ายใช้อาวุธปืนหลายชนิดยิงขึ้นฟ้าบ้าง ยิงเข้าไปในซอยอินทามระ 25 บ้าง อาวุธปืนดังกล่าวสามารถยิงทำอันตรายชีวิตคนได้ ไม่ว่าคนร้ายจะใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าหรือยิงเข้าไปในซอยอินทามระ 25 จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถูกยิงมีบาดแผลหลายแห่งและถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บบริเวณฝ่ามือขวา หลังเท้าขวา กระดูกฝ่าเท้าหัก การกระทำของคนร้ายเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนเมื่อยิงถูกบุคคลอื่นสามารถทำให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายได้ ถือเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนที่ตกในที่เกิดเหตุมีจำนวน 30 ปลอก กระสุนปืน 2 นัด และหัวกระสุนปืน 3 หัว การกระทำของคนร้ายอุกอาจกระทำลักษณะเป็นกองกำลังไม่น้อยกว่า 10 คน หากไม่มีการร่วมกันกระทำผิดแล้วคงจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาว่าคนร้ายทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด คนร้ายไม่ได้ใช้อาวุธปืนฉีดน้ำดังข้อต่อสู้ของจำเลยบางคน ส่วนที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าผู้ตายเคยทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เรียกค่าเสียหายจนเป็นเหตุให้พยานโจทก์คือนางสาวสโรชา นางณัฐณิชา นางสาวน้องโบว์ และนายชัยณรงค์ซึ่งเป็นญาติกับผู้ตายเบิกความให้ร้ายปรักปรำจำเลยทั้งสิบสองคนนั้น เห็นว่า คดีนี้มีวัตถุพยานกระสุนปืนตกในที่เกิดเหตุจำนวนมาก ภาพถ่ายกล้องวงจรปิดซึ่งมีภาพจำเลยบางคนปรากฏในภาพ และพยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความว่าจำเลยทุกคนมีอาวุธปืน พยานโจทก์คือนางณัฐณิชา ให้การในวันเกิดเหตุ นายชัยณรงค์ให้การภายหลังเกิดเหตุ 1 วัน ทั้งพยานโจทก์ที่เบิกความต่างรู้จักจำเลยคดีนี้ทุกคนเพราะรู้จักกันมาก่อนและมีบ้านพักอยู่อาศัยใกล้เคียงกัน ลำพังผู้ตายเคยทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เรียกเงินค่าที่ถูกทำร้ายจากผู้ตายไม่เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พยานโจทก์เบิกความใส่ร้ายจำเลยคดีนี้ ขณะเกิดเหตุมีแสงสว่างไฟฟ้าจากร้านค้าใกล้เคียงและตามถนนสามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ อย่างไรก็ตามแม้พนักงานสอบสวนจะไม่สามารถยึดอาวุธปืนมาเป็นของกลาง แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์และสำเนาภาพถ่ายกล้องวงจรปิดฟังข้อเท็จจริงได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่มีอาวุธปืนคือจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ส่วนสำเนาภาพถ่ายกล้องวงจรปิดมีภาพจำเลยที่ 7 ที่ 11 และที่ 12 ส่วนสำเนาภาพถ่ายกล้องวงจรปิด ที่ระบุว่า จำเลยที่ 8 ถืออาวุธปืนสั้น ปรากฏภาพดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 8 ถืออาวุธปืนหรือไม่ แต่นางณัฐณิชาเบิกความว่า จำเลยที่ 8 ไม่ได้ถือปืน จึงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 8 ไม่ได้ถือปืนขณะที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง พิจารณาขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่ได้ถือปืน แม้จำเลยที่ 2 จะอยู่ในกลุ่มคนร้ายและเป็นเพื่อนกับคนร้าย แต่วันเกิดเหตุเป็นวันสงกรานต์ จำเลยที่ 2 มีสิทธิออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ เมื่อพยานโจทก์เบิกความไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยอื่นอย่างไร จึงเห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ และร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย แม้จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวด้วยเพราะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ส่วนจำเลยที่ 3 แม้ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและฎีกาต้องห้ามตามกฎหมาย และจำเลยที่ 8 มิได้ฎีกา แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 8 ร่วมกระทำความผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 ไม่ได้ถือปืน พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และวันเกิดเหตุเป็นวันสงกรานต์ จำเลยที่ 3 และที่ 8 ย่อมมีสิทธิออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 3 และที่ 8 ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 และที่ 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบมาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวแม้คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จะต้องห้ามฎีกา และจำเลยที่ 8 ไม่ได้ฎีกา แต่ปัญหาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 8 กระทำความผิดหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 และมาตรา 185 ทั้งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 8 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 แม้ทางนำสืบของพยานโจทก์จะไม่ปรากฏสาเหตุแน่ชัดในการกระทำความผิด แต่นางณัฐณิชาเบิกความว่า มี 2 สาเหตุ คือ นายชัยพี่ชายผู้ตายเคยทะเลาะกับกลุ่มของชายที่ยิงผู้ตาย และผู้ตายเคยทำร้ายจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย และจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรด้วย โดยความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ร่วมกันมีอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพื่อความประสงค์อันเดียวกันและร่วมกันใช้อาวุธปืนต่อเนื่องจากการร่วมกันมีอาวุธปืน ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และเป็นกรรมเดียวกับฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ อันเป็นความผิดกระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย กระทงหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย อีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และแม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 5 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย และอนุญาตให้จำเลยที่ 9 ถอนฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 5 และที่ 9 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 และ 225 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 8 ฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 8 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 12 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และ 376 ความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 376 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม และความผิดของจำเลยที่ 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผย จำคุกคนละ 2 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share