คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ซึ่งเป็นเพียงเอกสารแสดงสิทธิครอบครองเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์เช่นโฉนดที่ดิน แม้ภายหลังได้มีการออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ขายต่อให้จำเลยที่ 4 ก็จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 มาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินจากจำเลยทั้งสองซึ่งได้ออกโฉนดเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 6441 และ 6445 ตามลำดับต่อมาโจทก์ไปขอตรวจดูทะเบียนที่ดินจึงทราบว่าจำเลยทั้งสองได้ขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3รับโอนไว้โดยไม่สุจริต การจดทะเบียนโอนดังกล่าวเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะโจทก์อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนได้ก่อน ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ขายที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4รับโอนไว้โดยไม่สุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาโดยตลอด ขอศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนการขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6441 และ 6445 ตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน หากจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2ยื่นคำให้การ ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 และโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยที่ 3 ให้การว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 แต่มิได้คัดค้านการซื้อขายได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และจำเลยที่ 3ได้ขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 4 ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้การว่าจำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 3 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 3และที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ระหว่างส่งสำเนาฎีกา จำเลยที่ 3ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นหมายเรียกนางจรัสศรี เลาหวัฒน์ ทายาทของจำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 3
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ จำเลยที่ 3ที่ 4 แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย วันที่ 9 พฤษภาคม 2521 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) 2 แปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลสันทรายหลวงอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ผู้รับมอบอำนาจในราคา 90,000 บาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารหมาย จ.2 โดยผ่อนชำระราคาเป็นงวด และนำเงินมาวางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 5 ครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่16 มิถุนายน 2521 มีการออกโฉนดที่ดินพิพาทปรากฏตามสำเนาโฉนดเลขที่ 6441 และ 6445 เอกสารหมาย จ.4 และ จ.3 ตามลำดับ(ตรงกับเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3) วันที่ 6 กรกฎาคม 2521จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 ในราคา70,000 บาท ตามสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 และสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าว วันที่ 11 พฤษภาคม 2527 จำเลยที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 คดีมีปัญหาว่า โจทก์เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนหรือไม่ และจำเลยที่ 3ที่ 4 ผู้รับโอนที่ดินพิพาทกระทำการโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่าขณะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันนั้นที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ซึ่งเป็นเพียงเอกสารแสดงสิทธิครอบครองเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์เช่นโฉนดที่ดิน จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 มาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้ภายหลังจะมีการออกโฉนดในที่ดินพิพาทก็ตาม นอกจากนั้น ตามทางนำสืบของโจทก์โจทก์เบิกความแสดงการคาดคะเนเพียงว่า เข้าใจว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 กระทำกันโดยไม่สุจริตเท่านั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริตแล้วขายให้จำเลยที่ 4 ไม่ว่าโจทก์จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพียงไร หรือจำเลยที่ 4 จะทราบถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ภายในอายุความ

Share