แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาค้ำประกัน ป. ในการเป็นพนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ต่อมาโจทก์แต่งตั้ง ป. ให้เป็นพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการขึ้นใหม่โดยให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย ทั้งมีบริษัท ท. เป็นผู้ค้ำประกันโดยมิได้ระบุว่าเป็นการค้ำประกันเพิ่มเติมจากที่จำเลยได้ค้ำประกันไว้แล้ว แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันโดยให้บริษัท ท. เข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่ บ. ยักยอกเงินของโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบิดาและทายาทโดยธรรมของนางสาวบุญจงประสาทเขตการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และผู้จัดการของโจทก์ จำเลยได้ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวบุญจงให้ไว้แก่โจทก์ นางสาวบุญจงได้ตายไปแล้ว ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นางสาวบุญจงได้ยักยอกเงินของโจทก์ไปจำนวน 209,120.06 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาค้ำประกันนางสาวบุญจงไว้กับโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน ต่อมาเมื่อนางสาวบุญจงดำรงตำแหน่งผู้จัดการได้ทำสัญญาค้ำประกันใหม่โดยใช่หลักทรัพย์และบริษัททิพยประกันภัย จำกัด เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยจึงหลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกัน นางสาวบุญจงมิได้ยักยอกเงินของโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัททิพยประกันภัย จำกัด เป็นเงิน 25,000 บาท และจากเงินสะสมของนางสาวบุญจงอีก 12,743.02 บาท จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายซ้ำจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 184,120.06 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมายจ.41 หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยกล่าวแก้ว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันนางสาวบุญจงในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ค้ำประกันในตำแหน่งหน้าที่การเงินหรือหน้าที่อื่น การที่ นางสาวบุญจงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการของโจทก์ก็ต้องรับผิดชอบงานการเงินด้วย โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างกับนางสาวบุญจงในตำแหน่งผู้จัดการขึ้นใหม่ภายหลังเมื่อวันที่1 เมษายน 2524 มีการค้ำประกันใหม่โดยบริษัททิพยประกันภัย จำกัดเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยจึงหลุดพ้นจากความรับผิดแล้วนั้น เห็นว่าสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.41 ระบุตำแหน่งงานของนางสาวบุญจงว่าเจ้าหน้าที่ ต่อมาโจทก์แต่งตั้งให้นางสาวบุญจงเป็นผู้จัดการของโจทก์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการงานและการเงินของโจทก์ตามมติที่ประชุมใหญ่และระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ตลอดจนเก็บรักษาเอกสารใบสำคัญและใบเสร็จรับเงินทั้งหมด จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันนางสาวบุญจงในตำแหน่งเดิมซึ่งเข้าทำงานคือเจ้าหน้าที่ แม้จะไม่จำกัดว่าเป็นการค้ำประกันเฉพาะในตำแหน่งดังกล่าวและไม่มีกำหนดเวลาก็ตามแต่ปรากฏต่อมาว่าโจทก์ให้นางสาวบุญจงไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโดยให้รับผิดในเรื่องการเงินด้วย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยมากขึ้นโดยจำเลยไม่ได้ยินยอมด้วย ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้ให้บริษัททิพยประกันภัย จำกัด เป็นผู้ค้ำประกันนางสาวบุญจงโดยมิได้ระบุว่าเป็นการค้ำประกันเพิ่มเติมจากที่จำเลยค้ำประกันไว้แล้ว การที่โจทก์ให้บริษัททิพยประกันภัย จำกัด ทำสัญญาค้ำประกันนางสาวบุญจงใหม่ ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการค้ำประกันเพราะนางสาวบุญจงเปลี่ยนตำแหน่งจากเจ้าหน้าที่มาเป็นผู้จัดการนั่นเอง แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.41อีกต่อไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.