คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8128/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาผลการประกวดราคา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์สั่งยกเลิกผลการประกวดราคา เนื่องจากเรียกเงินเป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากโจทก์เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ อันเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เท่ากับกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ โจทก์ต้องฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรงแต่ผู้เดียวให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำโดยละเมิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้รับผิดเป็นการเฉพาะตัวตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการบริหาร จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กับผู้มีชื่ออีก 2 คน เป็นกรรมการบริหาร ได้ประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างที่ทำการของจำเลยที่ 1 กำหนดยื่นซองและเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 โจทก์กับผู้มีชื่ออีก 4 ราย เข้ายื่นซองประกวดราคาตามวันเวลาและเงื่อนไขที่ประกาศกำหนดไว้ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะกรรมการบริหารและตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบคุณสมบัติถูกต้องและเปิดซองประกวดราคาแล้วปรากฏว่า โจทก์เสนอราคาต่ำที่สุดเป็นเงินจำนวน 1,060,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันเรียกเงินจากโจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 20 ของวงเงินที่เสนอราคาดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงร่วมกันทำหนังสือยกเลิกการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อไม่อนุมัติโดยให้เหตุผลว่ามีการสมยอมกันเสนอราคาซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและร่วมกันเรียกเอาทรัพย์สินจากโจทก์เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดผลกำไรที่จะได้รับจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเงินไม่น้อยกว่า 200,000 บาท และเหตุที่อ้างว่าผู้เข้าประมูลมีการสมยอมกันเสนอราคาอาจทำให้โจทก์ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประกวดราคา เสนอราคาก่อสร้างและจ้างทำของกับหน่วยราชการอื่น ขอให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกการประกวดของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุมัติจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ในวงเงินที่โจทก์ประมูลได้เป็นเงินจำนวน 1,060,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการบริหารผู้มีอำนาจกระทำการแทนเพียงผู้เดียว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการบริหารผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำการภายในขอบอำนาจจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างที่ทำการของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์กับผู้มีชื่อรวม 5 ราย เข้าร่วมประกวดราคา แต่โจทก์กับผู้มีชื่อกระทำการอันมีเหตุที่เชื่อได้ว่าการเสนอราคากระทำโดยไม่สุจริตหรือสมยอมกัน จำเลยที่ 1 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการมีความเห็นว่าน่าเชื่อว่ามีการสมยอมกันเสนอราคาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงเสนอความเห็นต่อจำเลยที่ 2 ว่ายกเลิกการประกวดราคา จำเลยที่ 2 มีคำสั่งว่าการประกวดราคาไม่ชอบและให้ยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว จำเลยทั้งห้าไม่ได้ร่วมกันเรียกเอาเงินจากโจทก์ตามฟ้อง ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท โจทก์คาดคะเนเอาเองเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างอาจมีกำไรหรือขาดทุนก็ได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการบริหารมีอำนาจกระทำการแทน และมีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2542 จำเลยที่ 1 ได้ออกประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างที่ทำการของจำเลยที่ 1 กำหนดยื่นซองและเปิดซองในวันเดียวกันคือในวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 ณ ที่ทำการชั่วคราวของจำเลยที่ 1 ตามประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลทรัพย์พระยาเรื่องประกวดราคาจ้างก่อสร้างที่ทำการของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.2 ในวันดังกล่าว โจทก์กับบุคคลอื่นอีก 4 รายได้ยื่นซองประกวดราคาปรากฏว่าโจทก์เสนอราคาต่ำที่สุดเป็นเงิน 1,060,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 2 เสนอความเห็นให้ยกเลิกการประกวดราคาจ้างเหมาดังกล่าว และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 สั่งไม่อนุมัติการประกวดราคาด้วยเหตุผลว่ามีการสมยอมกันตามเอกสารหมาย จ.3 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันยกเลิกการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างที่ทำการของจำเลยที่ 1 ในขณะที่ยังไม่น่าเชื่อว่ามีพฤติการณ์สมยอมกันเสนอราคา เป็นการกระทำโดยมิชอบอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ดังกล่าวไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วย โจทก์ยื่นฎีกาขอให้พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาโจทก์ว่า ฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกา ส่วนฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่โจทก์โต้แย้งว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่มีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกา ศาลชั้นต้นให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์โต้แย้งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ให้รับผิดเป็นการเฉพาะตัวหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบอ้างว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาผลการประกวดราคา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์โดยสั่งยกเลิกผลการประกวดราคาดังกล่าว เนื่องจากเรียกเงินเป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากโจทก์เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่แล้ว แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ อันเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวจึงเท่ากับกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรงแต่ผู้เดียวให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำโดยละเมิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้รับผิดเป็นการเฉพาะตัวตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share