คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7774/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้บริษัทนำเที่ยวเช่ารถโดยมีการทำสัญญาจ้างขนส่งด้วยรถโดยสารปรับอากาศ และจำเลยให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถของจำเลยทำหน้าที่ขับรถให้บริษัทนำเที่ยวผู้เช่ารถ ลักษณะงานเป็นงานที่ต้องทำนอกสำนักงานของจำเลย โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวที่สั่งผ่านมัคคุเทศก์ เท่ากับจำเลยมอบการบังคับบัญชาในระหว่างปฏิบัติงานของโจทก์ให้บริษัทนำเที่ยว การทำงานล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ โดยสัญญาจ้างขนส่งกำหนดให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ ในขณะเดียวกันจำเลยก็ยังคงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงินเดือนซึ่งเป็นค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานขับรถอันมีลักษณะที่ทำนอกสำนักงานของจำเลยอยู่แล้ว ส่วนเงิน “ค่าเบี้ยเลี้ยง” ที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายหรือจ่ายผ่านมัคคุเทศก์ให้โจทก์เป็นเงินที่จ่ายตามสัญญาจ้างขนส่ง ตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งและอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทนำเที่ยวที่เรียกว่า “ค่าล่วงเวลา” นั่นเอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในการทำงานล่วงเวลาแต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ดังนั้นเงินที่เรียกว่า “ค่าเบี้ยเลี้ยง” หรือ “ค่าล่วงเวลา” ก็คือ “ค่าตอบแทน” การทำงานล่วงเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายค่าล่วงเวลา (ค่าตอบแทน) เหมาจ่ายให้โจทก์ในอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานของโจทก์ และจ่ายให้แม้วันที่โจทก์ไม่ได้ทำงานล่วงเวลาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาจ้างขนส่ง ไม่ทำให้เงินดังกล่าวกลายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายตอบแทนการที่โจทก์ออกไปทำงานนอกสำนักงานของจำเลย เมื่อโจทก์ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีกสิบสี่สำนวน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งยี่สิบสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ถึงที่ 22 ที่ 24 ที่ 26 และที่ 28 ตามลำดับ แต่คดีอื่นยุติไปแล้ว โดยโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางบางส่วน และยุติไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางบางส่วน คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดียี่สิบสำนวนนี้
โจทก์ทั้งยี่สิบสำนวนฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการรับขนส่งคนโดยสาร (นักท่องเที่ยว) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โจทก์ทั้งยี่สิบเข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,100 บาท ต่อคนกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งยี่สิบทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน โจทก์ทั้งยี่สิบทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งของจำเลยแล้ว ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโจทก์ทั้งยี่สิบมีเวลาทำงานตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา เวลาพักระหว่าง 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา และกำหนดค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง โจทก์ทั้งยี่สิบมีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยพานักท่องเที่ยวของบริษัทลูกค้าของจำเลยไปท่องเที่ยวตามกำหนดการท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง ในระหว่างทำงานโจทก์ทั้งยี่สิบต้องทำงานต่อเนื่องติดต่อกันไปจนเสร็จตามรายการการท่องเที่ยวที่กำหนดไว้ในแต่ละครั้ง ซึ่งการปฏิบัติงานแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 วัน ถึง 7 วัน และต้องอยู่ในความควบคุมภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย โจทก์ทั้งยี่สิบทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่จำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้ โจทก์ทั้งยี่สิบของเรียกค่าล่วงเวลานับจากวันฟ้องย้อนหลังไปเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2547 โจทก์แต่ละคนขอเรียกค่าล่วงเวลาจากการทำงานล่วงเวลา 7,125 ชั่วโมง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งยี่สิบคนละ 225,793 บาท
จำเลยทั้งยี่สิบสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งยี่สิบทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารไม่ประจำทาง ทำงานเป็นช่วง ในการทำงานแต่ละครั้งมีเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดไม่แน่นอน จึงไม่อาจนำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนค่าล่วงเวลาอันเป็นข้อบังคับทั่วไปมาใช้บังคับ การทำงานของพนักงานขับรถมีระเบียบประเพณีปฏิบัติมานานหลายปีโดยพนักงานขับรถมีอัตราเงินเดือนเท่ากันทุกคน มีการจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งยี่สิบทุกครั้งเมื่อสิ้นสุดการทำงานแต่ละครั้งจำเลยจึงไม่ได้กำหนดเรื่องการทำงานล่วงเวลาของพนักงานขับรถให้ชัดเจนในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์ทั้งยี่สิบมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) และกฎกระทรวงฉบับที่ 12 พ.ศ.2541 ข้อ 6 เท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ จำเลยประกอบธุรกิจให้บริการรถยนต์เช่าเหมาคัน จำเลยมีข้อตกลงกับบริษัทนำเที่ยวผู้เช่าเหมาโดยมัคคุเทศก์เป็นผู้กำหนดจ่ายค่าล่วงเวลาให้พนักงานขับรถซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งยี่สิบในอัตราวันละ 300 บาท ถึง 500 บาท หรือมากกว่านั้น ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และโจทก์ทั้งยี่สิบได้รับค่าล่วงเวลาไปเรียบร้อยแล้วทุกครั้ง โจทก์ทั้งยี่สิบทำงานเดือนละ 26 วัน เวลาทำงานล่วงเวลาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งยี่สิบเฉลี่ยแล้วเท่ากับวันละ 14.42 ชั่วโมง เมื่อรวมกับเวลาทำงานปกติ 9 ชั่วโมง โจทก์ทั้งยี่สิบจะทำงานวันละ 23 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบกิจการขนส่งทางบกโดยมีรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางให้เช่า โจทก์ทั้งยี่สิบเป็นพนักงานขับรถยนต์ของจำเลย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,100 บาท ทุกวันสิ้นเดือน บริษัทนำเที่ยวทำสัญญาให้จำเลยจัดหารถยนต์โดยสารพร้อมคนขับไปบริการนักท่องเที่ยวโดยมีมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทนำเที่ยวเป็นผู้สั่งงานพนักงานขับรถตลอดเวลาที่นักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยตามรายการที่กำหนดไว้ซึ่งถือเป็นการเสร็จภารกิจ 1 ครั้ง มัคคุเทศก์เป็นผู้จ่ายเงินพิเศษที่เรียกว่าค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าทัวร์เฉพาะวันที่ปฏิบัติหน้าที่ขับรถให้แก่พนักงานขับรถวันละ 300 บาท ถึง 500 บาท พนักงานขับรถต้องขับรถเฉลี่ยเดือนละ 18 วัน มีกำหนดเวลาทำงานปกติ 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา พักระหว่าง 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา ในวันปฏิบัติงานต้องทำงานเกินเวลาทำงานปกติถึง 8 ชั่วโมง แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งยี่สิบทำงานเกินกว่าที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) และกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 3 กำหนดไว้ โจทก์ทั้งยี่สิบมีสิทธิได้รับค่าทำงานเกินเวลาในอัตราค่าจ้างทำงานปกติ แต่ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน 1.5 เท่า ของค่าจ้างทำงานปกติ สัญญาระหว่างจำเลยกับบริษัทนำเที่ยวที่ให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนการทำงานแก่พนักงานขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยย่อมทำได้ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เงินที่มัคคุเทศก์จ่ายให้โจทก์ทั้งยี่สิบคนละ 300 บาท ต่อวัน เป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันที่โจทก์แต่ละคนปฏิบัติงาน เมื่อคำนวณแล้วเป็นจำนวนที่เกินกว่าค่าจ้างทำงานปกติ 8 ชั่วโมง โจทก์ทั้งยี่สิบจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาซ้ำอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึง 12 ที่ 14 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ถึงที่ 22 ที่ 24 ที่ 26 และที่ 28 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบว่าเงิน “ค่าเบี้ยเลี้ยง” ที่โจทก์ทั้งยี่สิบได้รับจากบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์เป็น “ค่าตอบแทน” การทำงานล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยให้บริษัทนำเที่ยวเช่ารถโดยมีการทำสัญญาจ้างขนส่งด้วยรถโดยสารปรับอากาศตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 และจำเลยให้พนักงานขับรถของจำเลยทำหน้าที่ขับรถให้บริษัทนำเที่ยวผู้เช่ารถ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวที่สั่งผ่านมัคคุเทศก์ให้นำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวตามสถานที่ที่กำหนด เห็นว่า ลักษณะงานของพนักงานขับรถของจำเลยซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งยี่สิบเป็นงานที่ต้องทำนอกสำนักงานของจำเลย ไม่ใช่งานที่ทำในสำนักงานในระหว่างปฏิบัติงานโจทก์ทั้งยี่สิบต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวที่สั่งผ่านมัคคุเทศก์เท่ากับจำเลยมอบการบังคับบัญชาในระหว่างปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งยี่สิบให้บริษัทนำเที่ยว การทำงานล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 กำหนดให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งยี่สิบ ในขณะเดียวกันจำเลยก็ยังคงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งยี่สิบเป็นเงินเดือนซึ่งเป็นค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานขับรถอันมีลักษณะงานที่ทำนอกสำนักงานของจำเลยอยู่แล้ว ส่วนเงิน “ค่าเบี้ยเลี้ยง” ที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายหรือจ่ายผ่านมัคคุเทศก์ให้โจทก์ทั้งยี่สิบนั้นเป็นเงินที่จ่ายตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 ตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในระหว่างที่โจทก์ทั้งยี่สิบปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งและอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทนำเที่ยวที่เรียกว่า “ค่าล่วงเวลา” นั่นเอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 โจทก์ทั้งยี่สิบไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในการทำงานล่วงเวลาแต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนดังนั้นเงินที่เรียกว่า “ค่าเบี้ยเลี้ยง” หรือ “ค่าล่วงเวลา” ก็คือ “ค่าตอบแทน” การทำงานล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 ที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายค่าล่วงเวลา (ค่าตอบแทน) เหมาจ่ายให้โจทก์ทั้งยี่สิบในอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบ และจ่ายให้แม้วันที่โจทก์ทั้งยี่สิบไม่ได้ทำงานล่วงเวลาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทั้งยี่สิบตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 ไม่ทำให้เงินดังกล่าวกลายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายตอบแทนการที่โจทก์ทั้งยี่สิบออกไปทำงานนอกสำนักงานของจำเลย เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งยี่สิบ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share