คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมอบบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ การที่โจทก์ใช้บัตรดังกล่าวถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 120,000 บาท จากโจทก์ ตกลงดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 3 ของเดือน จำเลยสัญญาว่าจะชำระเงินคืนภายในวันที่ 5 มกราคม 2537 หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ชำระโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินต้นจำนวน 120,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 ปี 11 เดือน ดอกเบี้ยเป็นเงิน 178,500 บาท รวมเป็นเงิน 298,500 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 298,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยรับว่าเคยกู้ยืมเงิน 120,000 บาท จากโจทก์จริง จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์มาตลอดทุกเดือน โดยโจทก์ได้ยึดสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระปิ่นเกล้า ประเภทออมทรัพย์ เลขที่ 031-1-10237-9 และบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยไปตั้งแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งนายจ้างของจำเลยจะโอนเงินเดือน เงินโบนัส และเงินค่าล่วงเวลาของจำเลยเข้าบัญชีดังกล่าว โจทก์ใช้บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติเบิกถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือน เฉพาะปี 2539 ถึง 2545 เป็นเงินประมาณ 502,300 บาท เป็นการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นเอกสารปลอมที่โจทก์ทำขึ้นมาใหม่ และไม่ได้ติดอากรแสตมป์ จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2545 จำเลยเจรจากับโจทก์เพื่อปลดหนี้ ขอสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติคืนแต่โจทก์ไม่ยินยอมและเรียกร้องให้จำเลยชำระเงิน 180,000 บาท กับขอเงินโบนัสของจำเลยอีก 60,000 บาท จึงจะคืนสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติให้แก่จำเลย จำเลยได้อายัดบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติ โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยเกินจำนวนหนี้แล้ว ขอให้ยกฟ้องและขอบังคับให้โจทก์ส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติให้แก่จำเลย และมีคำสั่งยกเลิกคุ้มครองชั่วคราวเงินโบนัสของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยได้รับชำระหนี้จากจำเลยเกินสมควรและไม่เคยยึดสมุดบัญชีเงินฝากกับบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยไว้ ศาลมิได้มีคำสั่งอายัดเงินโบนัสของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนสมุดเงินฝากและบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติที่จำเลยมอบให้แก่โจทก์ไว้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินจำนวน 120,000 บาท จากโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากกับบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเงินจากจำเลยโดยโจทก์ได้ใช้บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย เพราะโจทก์เป็นผู้ยึดถือบัตรดังกล่าว และโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ขอให้ธนาคารออกบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติใหม่แทนบัตรที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้ครั้นพิจารณาบัตรบัญชีแสดงรายการฝาก-ถอนของบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งแม้จะใช้คำย่อคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็มีการแสดงความหมายคำย่อคำอธิบายดังกล่าวเป็นภาษาไทยไม่จำต้องใช้ล่ามแปลตามที่โจทก์แก้ฎีกาก็สามารถทำความเข้าใจได้ เมื่อตรวจสอบแล้วได้ความว่า โจทก์ได้ใช้บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยในปี 2539 เป็นเงิน 31,700 บาท ปี 2540 เป็นเงิน 69,100 บาท ปี 2541 เป็นเงิน 49,600 บาท ปี 2542 เป็นเงิน 54,300 บาท ปี 2543 เป็นเงิน 63,800 บาท ปี 2544 เป็นเงิน 46,500 บาท และปี 2545 เป็นเงิน 118,700 บาท รวมเป็นเงิน 433,700 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องและกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก ซึ่งจำเลยนำสืบการชำระหนี้ด้วยวิธีการดังกล่าวได้โดยชอบ ส่วนที่จำเลยยังเสนอขอรับชำระหนี้จำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์อีกทั้งที่ชำระหนี้เกินจำนวนหนี้แล้วก็หาเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดไม่ เพราะในขณะนั้นจำเลยอาจไม่ทราบว่าโจทก์เบิกเงินไปแล้วจำนวนเท่าใด และจำเลยอาจเข้าใจว่าต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนและหนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้วโจทก์หามีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้ชำระแต่ดอกเบี้ยให้โจทก์คงค้างชำระต้นเงินจำนวน 120,000 บาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share